รถไฟฟ้า ช่วยลดโลกร้อน สนข.กางข้อมูลลดพลังงานน้ำมันได้ 224.3 พันตัน

น้ำเงินส่วนต่อขยาย

รถไฟฟ้า 6 สายช่วยลดโลกร้อน สนข.กางข้อมูลลดพลังงานน้ำมันได้จริงถึง 224.3 พันตัน

วันที่ 6 สิงหาคม 25632 เวลา 8.30 น. นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

โดยนางวิไลรัตน์กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงแสดงเจตนารมณ์ว่า

“ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)”

โดยผลการประชุมในครั้งนั้น ไทยมีมติเห็นชอบความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งภาคคมนาคมขนส่งได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564 – 2573 สาขาคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และเพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 หรือที่ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ภายในปี 2573

โดยภาคคมนาคมขนส่งได้ทำการประเมินศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 35.42 MtCO2e ภายในปี 2573 ทั้งนี้ สนข. เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำโครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคการขนส่ง เพื่อตอบสนองต่อค่าเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 2558 – 2579 (EEP 2015) และค่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่ง

นางวิไลรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการภายใต้แผนการดำเนินงานของโครงการ ระยะเวลา 12 เดือน ผลการประเมินพลังงานที่ลดได้ด้วยการติดตามประเมิน (Tracking) ที่สามารถตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification : MRV) ได้ ในปีปัจจุบัน (2563) พบว่ามาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 224.3 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) แต่หากดำเนินการทุกเส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนแม่บท M-Map จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 1,375.5 ktoe ในปี 2579

และหากเปรียบเทียบกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 2558 – 2579 (EEP 2015) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 4,823 ktoe ถือว่าผลที่ประเมินได้ค่อนข้างแตกต่างกัน สำหรับการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ด้วยการติดตามประเมิน (Tracking) ที่สามารถ MRV ได้ พบว่า ในปี 2563 มาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.64 MtCO2e และในปี2573 มาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกเส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนแม่บท M-Map จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2.65 MtCO2e

ซึ่งจากแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 2564 – 2573 สาขาคมนาคมขนส่ง ได้เคยประเมินศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกของมาตรการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไว้ที่ 1.06 MtCO2e ณ ปี2573

“การประชุมสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นผลลัพธ์จากการดำเนินงานภายใต้การผลักดันทางด้านนโยบายของภาครัฐ โดยภาครัฐจะมีข้อมูลพื้นฐานและค่าการลดการใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถตัดสินใจหรือวางนโยบายเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม รวมถึงหน่วยงานปฏิบัติมีความพร้อมในการดำเนินงาน สามารถกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ และแนวทางในการดำเนินงานโครงการด้านการคมนาคมขนส่งได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและการพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืนได้ต่อไป” นางวิไลรัตน์กล่าว