พันธมิตรการเงิน “จีน-รัสเซีย” ลดพึ่งพา “ดอลลาร์”

จีน-รัสเซีย

เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีอิทธิพลต่อโลกมาโดยตลอด เป็นผลมาจากอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของมหาอำนาจเบอร์หนึ่งอย่าง “สหรัฐอเมริกา” แต่ความขัดแย้งกับหลายประเทศในเวทีโลกที่กำลังทวีความรุนแรงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ทำให้ “รัสเซีย” และ “จีน” เริ่มหันไปร่วมมือกัน “ลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐ” ซึ่งนำไปสู่ความเป็น “พันธมิตรทางการเงิน” ระหว่างสองชาติที่อาจแข็งแกร่งกว่าสหรัฐในที่สุด

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ข้อมูลของธนาคารกลางและศุลกากรกลางของรัสเซียเปิดเผยว่า สกุลเงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” มีสัดส่วนอยู่ที่ 46% ในการค้าระหว่างรัสเซียกับจีนช่วงไตรมาส 1/2020 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เงินดอลลาร์สหรัฐ

มีสัดส่วนในการค้าระหว่างสองชาติต่ำกว่า 50% สวนทางกับ “สกุลเงินยูโร” มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ทำลายสถิติก่อนหน้านี้

ขณะที่สัดส่วนของเงินรูเบิลของรัสเซียและเงินหยวนของจีนก็มีสัดส่วนในการค้าระหว่างสองชาติเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์รวมกันที่ 24%

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัสเซียและจีนพยายามลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าทวิภาคีลงอย่างมาก โดยสัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมระหว่าง 2 ประเทศในช่วงปลายปี 2018 อยู่ที่ราว 90% ก่อนที่จะลดลงมาเหลือเพียง 51% ภายในปี 2019 หลังจากที่สหรัฐและจีนเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงในสงครามการค้า

“อเล็กเซย์ มาสโลว์” หัวหน้าสถาบันตะวันออกไกลศึกษาแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย ระบุว่า ความพยายามลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐของจีนและรัสเซียจะนำไปสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่อาจยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้กลายเป็นพันธมิตรกันโดยพฤตินัย

“ความร่วมมือด้านการเงินระหว่างรัสเซียและจีนแสดงให้เห็นว่า ในที่สุดพวกเขาก็พบตัวแปรสำคัญใหม่ในการเป็นพันธมิตรระหว่างกัน ก่อนหน้านี้หลายคนจับตาไปที่ความร่วมมือด้านการทหารและการค้า แต่ขณะนี้ความสัมพันธ์ได้ก้าวไปสู่การธนาคารและการเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสร้างอิสรภาพให้กับทั้งสองประเทศ” มาสโลว์กล่าว

รัสเซียได้เริ่มดำเนินนโยบายลดการพึ่งพิงของเงินดอลลาร์สหรัฐมาตั้งแต่ปี 2014 หลังจากที่เกิดกรณีการผนวกดินแดนไครเมีย ทำให้รัสเซียถูกแซงก์ชั่นจากโลกตะวันตก ส่งผลการลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐในการค้าทวิภาคีกลายเป็นความจำเป็นของรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบหากสหรัฐใช้มาตรการแซงก์ชั่นที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการปิดกั้นการเข้าถึงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT)

“ดมิทรี ดอลกิน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์รัสเซียของธนาคารไอเอ็นจี ระบุว่า “การทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐในบางรายการจะเข้าระบบหักบัญชีที่ธนาคารในสหรัฐ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถสั่งให้ธนาคารระงับธุรกรรมบางรายการได้”

ขณะที่ “จีน” ก็เริ่มเห็นถึงความจำเป็นในการ “ลดการพึ่งพิง” เงินดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวกับรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐเดินหน้าสงครามการค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐหลายระลอก

“จาง ซิน” นักวิจัยประจำศูนย์รัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยคุรุศาสตร์หัวตง กล่าวว่า ไม่นานมานี้รัฐบาลและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจรายใหญ่ของจีนเริ่มตระหนักว่า พวกเขาอาจตกอยู่ในที่นั่งลำบากคล้ายกับรัสเซีย โดยตกเป็นเป้าของการแซงก์ชั่นและอาจถึงการถูกปิดกั้นการเข้าถึงระบบ “SWIFT”ในปี 2014 ทั้งรัฐบาลจีนและรัสเซียได้บรรลุข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (currency swap) มูลค่าถึง 150,000 ล้านหยวน

โดยที่แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงสกุลเงินของอีกฝ่ายได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และในปี 2019 รัฐบาลของทั้งสองประเทศยังบรรลุข้อตกลงการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยสกุลเงิน “รูเบิล” และ “หยวน” แทนที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และยังเตรียมพัฒนากลไกการชำระเงินทางเลือกเพื่อแทนที่ระบบ SWIFT อีกด้วย

รัฐบาลรัสเซียยังได้หันไปถือครองสินทรัพย์สกุลเงิน “หยวน” แทนที่ “ดอลลาร์สหรัฐ” เพิ่มขึ้น โดยช่วงต้นปี 2019 รัสเซียได้ลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐลงถึง 101,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐที่รัสเซียถือครองอยู่ก่อนหน้านั้น

และเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินหยวนในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจาก 5% เป็น 15% ผ่านการลงทุนของธนาคารกลางรัสเซียราว 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้รัสเซียเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ถือครองเงินหยวนมากที่สุดในโลก และเมื่อต้นปี 2020 รัฐบาลรัสเซียยังอนุมัติให้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซียเริ่มลงทุนในสกุลเงินหยวนและพันธบัตรของรัฐบาลจีนได้

อย่างไรก็ตาม “เจฟเฟอรี แฟรงเคิล” นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า การกำจัดอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างมีเสถียรภาพ ผูกติดอยู่กับเศรษฐกิจขนาดยักษ์ใหญ่ของอเมริกา รวมถึงตลาดการเงินสหรัฐที่มีสภาพคล่องและเปิดกว้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสกุลเงินใดสามารถแสดงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าเงินดอลลาร์ได้


แต่แฟรงเคิลก็ชี้ว่า แม้ในขณะนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีความปลอดภัย แต่หากรัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการแซงก์ชั่นที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากเกินไปอาจทำให้ประเทศอื่น ๆ มองเห็นความเสี่ยงและมองหาทางเลือกอื่น กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำลายสถานะของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในระยะยาว