ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เฝ้าจับตาตัวเลขภาคแรงงาน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ดัชนีดอลลาร์ในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นเชิงบวกออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยในวันศุกร์ (29/9) สหรัฐเปิดเผยรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นตามคาดที่ 0.2% และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นตามคาดเช่นกันที่ 0.1% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกเพิ่มขึ้นเกินคาดสู่ระดับ 65.2 ในเดือนกันยายน โดยดัชนีดอลลาร์เปิดตลาดวันจันทร์ที่ระดับ 93.22 แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 93.076 โดยระหว่างสัปดาห์มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญออกมา ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 60.8 ในเดือนกันยายน จากระดับ 58.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งการที่ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 นั้นบ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิต โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนีภาคการผลิตไอเอสเอ็มนั้น ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และราคาวัตถุดิบ ขณะที่ดัชนีนอกภาคการผลิตของไอเอสเอ็มนั้นปรับตัวดีขึ้นเช่นกันที่ระดับ 59.8 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 55.5 ขณะเดียวกันจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ปรับลดลงกว่าที่คาดไว้ โดยลดลงสู่ระดับ 260,000 ตำแหน่งจากที่คาดว่าอยู่ที่ระดับ 266,000 ตำแหน่ง โดยดัชนีดอลลาร์ดีดตัวขึ้นสู่รตะดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี (5/10) จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง ทั้งนี้นักลงทุนจะจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ (6/10) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 90,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ซึ่งลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ 156,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงาน นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 4.4% ในเดือนกันยายน

ในส่วนปัจจัยอื่น ๆ นั้น นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาดัลลัส ซึ่งเป็นสมารชิกผู้มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้อง “พิจารณาอย่างจริงจัง” ในเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ นายโรเบิร์ตได้เน้นด้วยว่า เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นแตะระดับเป้าหมายที่ 2% หรือปรับตัวขึ้นเข้าใกล้เป้าหมาย ก่อนที่เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนั้นในสัปดาห์นี้คณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ยื่นรายชื่อบุคคลที่ได้รับพิจารณาจากทางคณะที่ปรึกษาให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ ต่อจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยการเสนอรายชื่อบุคคลในครั้งนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย และนับเป็นการสิ้นสุดการฟื้นฟูตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ รายงานระบุว่า นางเจเน็ต เยลเลน ยังคงอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ได้รับการพิจารณา แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แสดงท่าทีว่าอาจจะไม่แต่งตั้งนางเจเน็ต เยลเลน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ก็ตาม

สำหรับค่าเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (2/10) ที่ 33.33/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ ในส่วนของความเคลื่อนไหวภายในประเทศ นางแพดริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากรในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงจัดเก็บในอัตรา 7% ตามเดิมต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อันจะส่งผลทำให้ภาพรวมของการบริโภคและการลงทุนของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคงยิ่งขึ้นระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.39-33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรวันจันทร์ (2/10) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1770/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 1.1800/04 ดอลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29/9) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมัน ได้เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลง 0.4% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งยุโรป ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% เท่ากับเดือนก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6% ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนที่ระดับ 56.7 ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์เกือบทั้งสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในสเปนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงจากประเด็นดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนได้ใช้กระบองและกระสุนยางในการขัดขวางกลุ่มผู้สนับสนุนการโหวตเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชในแคว้นคาตาโลเนียในสเปน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ราว 893 คน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ที่ 0.3% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ออกโรงเตือนนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า อย่ามองข้ามนายมิเชล บาร์นิเยร์ ผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ในกรณีที่มีการเจรจาต่อรองเรื่องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยนายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ กล่าวว่า ยังคงมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ และเรายังไม่สามารถผลักดันให้เกิดความคืบหน้าได้มากพอ ผู้แทนการเจรจานั้นได้เดินหน้าประเด็นเรื่องสิทธิพลเรือน ได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่เรื่องบทบาทของคณะกรรมการที่จะรับรองในสิทธิเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องมาหารือให้ความเห็นชอบร่วมกัน ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1686-1.1715 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 1.1699/1.1701 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้เปิดตลาดในวันจันทร์ (25/9) ที่ระดับ 112.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 112.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29/9) สถาบันสถิติแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ประจำเดือนสิงหาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7% เท่ากับคาดการณ์ นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 3/2560 ในวันจันทร์ โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น อยู่ที่ระดับ +22 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ +17 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ +18 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 43.9 จากระดับ 43.3 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ 43.5 โดยในส่วนของความเชื่อมั่นที่มีต่อการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 47.8 และความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นแตะ 43.5 จากระดับ 42.6 ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดจากปัจจัยในเรื่องการเมือง โดยนักลงทุนกำลังประเมินผลกระทบจากการเลือกตั้งทั่วไปในญี่ปุ่นในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.77-113.06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/10) ที่ระดับ 112.97/113.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ