“อกริคัลเจอร์ อีส ไลฟ์” ผุดโรงงานใหม่ ส่งผัก-ผลไม้ตีตลาด EU

สัมภาษณ์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกผัก-ผลไม้ของไทย ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระงับเที่ยวบินโดยสาร เนื่องจากสินค้าต่าง ๆ ที่ขนส่งทางเครื่องบินต้องถูกระงับไปด้วย

เมื่อเที่ยวบินโดยสารเดินทางลดลง ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าระวางสินค้าส่งออกสูงขึ้นถึง 10 เท่า โดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “องอาจ รัตนศิริมนตรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อกริคัลเจอร์ อีส ไลฟ์ จำกัด จ.นครปฐม ผู้ส่งออกผักและผลไม้ มาตรฐานอนามัยระดับสากลซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานานตั้งแต่ทำธุรกิจกับครอบครัว (เครือชัชวาลกรุ๊ป) พูดถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ พร้อมเตรียมขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิต ตามความต้องการของตลาดโลกที่สูงขึ้น

 

ค่าระวางพุ่ง 10 เท่า

“องอาจ” บอกว่า ช่วงแรก ๆ ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาด เป็นอุปสรรคในการส่งออกเป็นอย่างมาก ทั้งสายการบินในประเทศหยุดทำการ อีกทั้งเส้นทางบินไม่บินตรงเข้ากลุ่มประเทศนั้น ๆ ที่สำคัญแต่ละสายการบิน มีการปรับราคาค่าระวางส่งสินค้าจากปกติ 100 บาทต่อกิโลกรัม สูงถึง 280 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งขึ้น รวมถึงการโหลดสินค้าซึ่งมี 2 แบบ

คือ แผ่นพาลเลตที่มีขนาด 10 คิวบิกเมตร และตู้ LDT ที่มีขนาด 3.3 คิวบิกเมตร โดยปกติสายการบินจะขายพื้นที่การส่งของแบบเป็นกิโลกรัม แล้วนำไปเรียงในแผ่นพาลเลต แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นสายการบินระบุว่าไม่ขายแยก ถ้าจะส่งต้องซื้อพื้นที่เต็มแผ่นพาลเลต

ถือว่ามีความโชคดีแม้ราคาขนส่งจะแพงแต่สามารถเจรจากับคู่ค้าบวกเพิ่มราคาสินค้าได้ เพราะว่าต่างประเทศมีความต้องการผัก ผลไม้ค่อนข้างสูง ซึ่งช่วงแรกที่มีการระบาด มีการสั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น วิกฤตครั้งนี้ทำให้รู้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งอาหาร และมีความมั่นคงมาก ๆ

องอาจ รัตนศิริมนตรี
องอาจ รัตนศิริมนตรี

ดีมานด์พุ่งลุยลงทุนโรงงานใหม่

“องอาจ” บอกว่า สำหรับวัตถุดิบผัก และผลไม้ที่ส่งออก เป็นผักสวนครัวทั่วไปและผักพื้นบ้านหลายชนิด รวมถึงขนมต่าง ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากคนเอเชียที่ไปอยู่ในต่างประเทศ โดยวัตถุดิบผัก ผลไม้แต่ละชนิดโรงงานเรารับซื้อมาจากกลุ่มเกษตรในเครือข่ายทั่วประเทศทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากมีมรสุมเยอะ

โดยมีเกษตรกรในเครือข่ายรวมประมาณ 100 กว่าครัวเรือน การปลูกผักของเราสามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องไม่ใช่สารเคมีที่ต่างประเทศห้ามใช้ เพื่อไม่ให้สารเคมีตกค้างเกินกว่าระดับค่ามาตรฐานของแต่ละประเทศที่กำหนด ผักของเราเป็นผักปลอดภัย เกษตรกรต้องหยุดพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผักปลอดภัยจากสารพิษ ใครทำผัก และผลไม้ส่งให้เราได้จะให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปเท่าตัว เช่น ตลาดขายส่งใหญ่ ขึ้นราคาหน้าเว็บ 60 บาทเราจะให้เกษตรกร 120 บาท และมีรถไปรับถึงหน้าสวน

ทุกวันนี้เราส่งออกผัก และผลไม้ 100% ปัจจุบันโรงงานมียอดส่งออกมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี ยังไม่ได้รุกตลาดแบบเต็มที่ ทั้งที่ปัจจุบันตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้าเป็นจำนวนมาก เราจึงวางแผนขยายกำลังการผลิต ด้วยการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7-8 ล้าน ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงาน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการสร้างบ้าน และออฟฟิศ ซึ่งคาดว่าโรงงานจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงสิ้นปี 2564 พร้อมส่งออกได้ช่วงต้นปี 2565 จำนวนพนักงานที่ต้องการประมาณ 60 คนขึ้นไป

“โรงงานใหม่จะมีขนาดใหญ่กว่าโรงงานปัจจุบัน 2 เท่า ปัจจุบันโรงงานมีการส่งออกวัตถุดิบ ประมาณ 8 ตันต่อสัปดาห์ ประมาณ 30-40 ตันต่อเดือน หากโรงงานใหม่เสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ถึง 20 ตันต่อสัปดาห์ หรือ 80-100 ตันต่อเดือน จะสามารถสร้างมูลค่ายอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับตลาดส่งออกหลัก คือโซนยุโรป เช่น โดยเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากให้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ปัจจุบันเราส่งผัก ผลไม้เข้าไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของ Coop ในอนาคตเตรียมขยายตลาดไปยังประเทศสวีเดน

จี้รัฐคลายกฎขยายส่งออก

องอาจบอกต่อไปว่า ภาพรวมความต้องการตลาดทั่วโลกตอนนี้มหาศาลมาก และราคาแพง ขณะนี้ผัก และผลไม้จากประเทศไทยถือว่าราคาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่การส่งออกผัก และผลไม้ของผู้ประกอบการไทยยังติดปัญหาเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐของไทย มีการเขียนกฎระเบียบให้ผู้ประกอบการไทยปฏิบัติเข้มงวดมากกว่าประเทศผู้นำเข้าที่ตั้งเงื่อนไขไว้ จนหลายครั้งกลายเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกเสียเอง

ตอนนี้ทางผู้ประกอบการส่งออกผัก และผลไม้ได้รวมตัวกันเข้าไปหารือกับหอการค้าไทย เพื่อจะให้เข้าไปคุยกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว เพื่อเปิดตลาดส่งออกผัก และผลไม้ไทยให้ขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้น

“บางครั้งการออกกฎระเบียบการค้าของต่างประเทศที่เข้มงวด เพราะเห็นว่าเราส่งสินค้าเข้าไปในประเทศเขามากเกินไป ดังนั้น เพื่อแตะเบรกจะเล่นเกมการค้า ออกกฎใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งก็ไม่อยากให้ภาครัฐไปเดินตามเกมของเขา มาออกกฎระเบียบที่เข้มงวดกว่า จนผู้ประกอบการส่งออกไทยส่งออกยากคงต้องมาพิจารณากันเป็นกรณีไป เพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างให้ผู้ประกอบการขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเอกชนไทยด้วยกันก็ควรร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่น ไม่ใช่การขายตัดราคากันเอง เช่น เวียดนามคู่แข่งสำคัญของไทย ที่ผ่านมาขายผัก ผลไม้อย่างเดียวกับของไทย แต่ราคาถูกกว่าไทยถึง 30% เช่น ผักไทยขาย 100 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามขายราคา 70 บาทต่อกิโลกรัม