“อินทัช อนุพรรณสว่าง” ต่อยอดเครื่องกลสู่หุ่นยนต์การเกษตร

สัมภาษณ์พิเศษ

ในอดีตการจะผลิตหุ่นยนต์ขึ้นมาสักชิ้นในประเทศไทยนั้นยากพอสมควร โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีขั้นสูง มีเพียงประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และเยอรมนี สามารถทำได้และมีประสิทธิภาพเหนือชาติอื่น

แต่ล่าสุด startup สัญชาติไทยรายหนึ่งโดดขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญ สามารถผลิตชิ้นส่วนและประกอบหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติขึ้นเองได้ด้วยแบรนด์ของตนเอง สอดรับกับนโยบายของประเทศที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้เป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ของไทย “ประชาชาติธุรกิจ”

ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานและสัมภาษณ์พิเศษ “นายอินทัช อนุพรรณสว่าง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด (RST) ถึงการต่อยอดธุรกิจครอบครัวเครื่องจักรกลการเกษตร สู่ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร สร้าง “อุบลฯโมเดล” ขึ้นมา

ต่อยอดธุรกิจครอบครัว

RST เป็นบริษัท startup มีอายุเพียง 4 ปี ที่เริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวมายาวนาน จำหน่ายทั้งเครื่องแทรกเตอร์ เครื่องตัดอ้อย ตั้งอยู่ในอ.เมือง จ.อุบลราชธานี

และเมื่อถึงวันที่อุตสาหกรรมการเกษตรเริ่มเปลี่ยนไป เป็นแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมการปลูก จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ พัฒนาระบบ และก่อตั้ง RST

ขึ้นในปี 2560 เป็นบริษัทผู้ผลิตประกอบหุ่นยนต์ แขนกลอุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติเชิงพาณิชย์ รวมถึงออกแบบที่ขายทั้งโซลูชั่น ภายใต้แบรนด์ตนเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทผลิตแขนกลหุ่นยนต์ 1 ใน 3 รายของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันจะมีผู้ผลิตแขนกลและหุ่นยนต์ได้รายใหญ่ ๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (OEM)

“เราใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาระยะหนึ่ง ทำให้ RST สามารถประดิษฐ์เครื่องตัดเหล็ก CNC ขึ้นเพื่อใช้ในโรงงานตนเอง และต่อมาได้มีการวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมจนสามารถนำมาใช้ในโรงงานตนเองสำเร็จ และวางแผนผลิตเพื่อการพาณิชย์”

โดยวิเคราะห์พื้นที่ภาคอีสานเป็นที่รู้กันว่า ส่วนใหญ่จะทำการเกษตร มีทั้งปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ทั้งหมดคือพืชเศรษฐกิจสำคัญ แต่ด้วยบางครั้งการบริหารจัดการอาจไม่ครอบคลุม ไม่มีประสิทธิภาพพอ มีความยากเรื่องของสภาพอากาศที่ทั้งร้อนและชื้น RST จึงผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเข้าไปช่วย

“ราคาที่เราผลิตจะถูกกว่าหุ่นยนต์จากญี่ปุ่น 20-30% หรือมีราคาใกล้เคียงกับจีน แต่มีคุณภาพที่ตรงกับที่เกษตรกรไทยต้องการ นี่เป็นจุดแข็งที่สู้กับหุ่นยนต์นำเข้าได้ และการที่มีโรงงานผลิต วิศวกรออกแบบผลิตเป็นคนไทย ทำให้สามารถเข้าไปให้บริการหลังการขายได้ดีกว่า โรงงานลงทุนติดตั้งไม่แพงประมาณ 350,000-400,000 บาท/ตัว”

มุ่งส่งออกเวียดนาม-อินโดฯ

บริษัทได้กำหนดเป้าหมาย 3-5 ปี โดยร่วมมือกับนักออกแบบโปรแกรม และ system integrator (SI) ที่เชี่ยวชาญในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอย่าง บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (DENSO) ด้านอื่น ๆ และมองหาพาร์ตเนอร์มาร่วมพัฒนา อย่างตอนนี้มีบริษัท เซียะซันโรบอต แอนด์ ออโต้เมชั่น จำกัด (SIASUN) ผู้นำการผลิตหุ่นยนต์สัญชาติจีนเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยเรา นอกจากนี้ได้ลงนาม MOU เป็น service provider ให้บริษัท พีทีที เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ จำกัด (PTTES)

“การหาพาร์ตเนอร์เก่ง ๆ จะเป็นใบเบิกทางเพื่อขยายไปผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปอีก”

อนาคตมีแผนผลิตเพื่อการส่งออกต่างประเทศภายใน 5 ปีนี้ โดยมุ่งไปที่เวียดนาม เนื่องจากมีภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ตรงกับความเชี่ยวชาญของบริษัท ซึ่งปัจจุบันหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคอาเซียนยังมีน้อย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเจาะตลาดนี้

อย่างไรก็ตาม RST ยังติดเงื่อนไขการเป็น startup จึงยังไม่สามารถขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หากเราเข้าเงื่อนไขจะยื่นขอถึงเวลานั้นจะส่งออกได้

ยอดขายปี”63 โต 50%

เรามีลูกค้ากลุ่มแปรรูปการเกษตร 5 ราย ที่ใช้หุ่นยนต์ แขนกลของเราในไลน์การผลิตและลำเลียง อย่างโรงสีข้าว โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานแปรรูปยางพารา นอกจากนี้ เรามีการขายระบบควบคุมด้วย อย่างที่ใช้ควบคุมน้ำในแปลงผัก ไปถึงไลน์การผลิตอาหารแบบ full automation ในช่วงโควิด-19 กลับทำให้หลายบริษัทปรับปรุงกระบวนการผลิต ลงทุนซื้อหุ่นยนต์

แขนกลเข้าไปใช้มากขึ้น ทำให้ยอดขายปี 2563 นี้ จากที่หวั่นว่าจะได้รับผลกระทบ แต่กลับมองว่าจะสามารถเมนเทนไว้ได้ที่ 30 ล้านบาท และในปี 2564 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 50% หากนับยอดขายตั้งแต่เริ่มผลิตหุ่นยนต์รวม 4 ปี มียอดคำสั่งซื้อไปแล้วกว่า 30 ตัว มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 50% ทุกปี

ข้อเสนอรัฐหนุนไทยผลิตหุ่นยนต์

ผู้ประกอบการไทยแท้จริงแล้วเก่งมาก ระดับอาชีวะเราสามารถพัฒนาอบรมเขาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ RST จึงมีอีกหนึ่งสถานะคือไม่ใช่แค่โรงงานผลิต แต่ตอนนี้เราจับมือกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (ศูนย์ ITC 4.0) เพื่อเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดหรือดูแลด้านระบบไอทีให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ รวมถึงการเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติ เพิ่มทักษะระดับอาชีวะ เพื่อสร้างแรงงานที่มีความสามารถ

ปัจจุบันเรื่องหุ่นยนต์เรียนในห้องเรียน 83.37% ฝึกงานจริงเพียง 16.67% มีจำนวนเครื่องจักรต่อนักเรียน 1 : 100 เท่านั้น ดังนั้น จึงขอรัฐช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้หุ่นยนต์ของคนไทยมากขึ้น สนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีให้ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ทั้งระบบ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และพัฒนาอาชีวะให้เป็นบุคลากรด้านนี้