ทั่วโลกตกงาน 495 ล้านตำแหน่ง โจทย์ใหญ่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก

สถานการณ์แรงงานทั่วโลกยังคงย่ำแย่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับลดชั่วโมงการทำงานและเลิกจ้างจำนวนมาก

ทำให้รายได้ของแรงงานลดลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนกลายเป็นความเปราะบางที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการจ้างงานจากภาครัฐ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การจ้างงานไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน

เดอะการ์เดียนรายงานผลสำรวจล่าสุดของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ” (ไอแอลโอ) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส
โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่รายได้ของแรงงานทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งคิดเป็นความสูญเสียสูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.5% ของจีดีพีโลก

สาเหตุมาจากภาคธุรกิจที่ต่างปรับลดการจ้างงานหรือลดชั่วโมงการทำงานเพื่อลดต้นทุนพยุงให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วชั่วโมงการทำงานของแรงงานทั่วโลกในไตรมาส 2/2020 หายไปราว  17.3% จากระดับก่อนเกิดโรคระบาด หรือเทียบเท่าการสูญเสียตำแหน่งงานประจำ (ทำงาน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์) ราว 495 ล้านตำแหน่ง

ขณะที่ไอแอลโอประมาณการว่า ในไตรมาส 3 ชั่วโมงการทำงานของแรงงานทั่วโลกจะหายไปราว 12.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเทียบเท่าสูญเสียตำแหน่งงานประจำราว 345 ล้านตำแหน่ง ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าการลดลงของชั่วโมงการทำงานจะเท่ากับการสูญเสียตำแหน่งงานราว 245 ล้านตำแหน่ง หรือลดลง 8.6%

ทั้งนี้ อัตราการติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การสูญเสียชั่วโมงการทำงานยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอทั่วโลกก็ส่งผลให้เกิดภาวะ “ไม่มีงานให้ทำ” และ “ไม่สามารถทำงานได้” ซึ่งต่างจากภาวะการว่างงานในช่วงเวลาปกติ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสในประเทศต่าง ๆ ตามการสำรวจของไอโอแอล
พบว่า แรงงาน 94% อยู่ในประเทศที่ยังคงมีข้อจำกัดสำหรับการทำงานบางประเภท

นอกจากนี้ แรงงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง บังกลาเทศ กัมพูชา ไนจีเรีย และยูเครน นับว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะ “แรงงานนอกระบบ” ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ ซึ่งแรงงานในประเทศเหล่านี้มีรายได้ลดลงเฉลี่ย 15.1% รองลงมาเป็นแรงงานในกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาที่มีรายได้ลดลงจากเดิมในปี 2019 ราว 12.1%

แม้ว่าผลสำรวจของไอแอลโอจะไม่ได้นำมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการจ้างงานของรัฐบาลในแต่ละประเทศเข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ด้วย เนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยในกลุ่มประเทศร่ำรวยมีความสามารถในการออกมาตรการรักษาและกระตุ้นการจ้างได้เป็นอย่างดี เช่น “สหราชอาณาจักร” ที่มีมาตรการอัดฉีดงบประมาณถึง 40,000 ล้านปอนด์ ที่ช่วยรักษาการจ้างงานได้มากถึง 9.6 ล้านตำแหน่ง

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมีความสามารถในออกมาตรการรักษาตำแหน่งงานได้น้อยกว่า ซึ่งไอแอลโอประมาณการว่า ต้องใช้งบประมาณถึง 982,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงจะสามารถช่วยให้ประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้ปานกลางสามารถรักษาตำแหน่งงานไว้ได้ในสัดส่วนเดียวกันกับประเทศรายได้สูง

“กาย ไรเดอร์” ผู้อำนวยการใหญ่ของไอแอลโอ ระบุว่า “เมื่อเราต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการเอาชนะไวรัส เราก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเหมาะสม เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการจ้างงานด้วย ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านการทำงาน การดำเนินธุรกิจ และการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”


ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ด้านแรงงานที่ยังคงเปราะบาง ทั้งแรงงานที่ว่างงานจำนวนมากใน
ปัจจุบัน และแรงงานสัญญาจ้างที่กำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคทั่วโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ และเป็นแรงฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้