สวนป่าเบญจกิติ ดีเดย์โฉมใหม่ ผุดไอเดียหอชมเมือง เฉลิมพระเกียรติ “12 สิงหาฯ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” เนื้อที่ 259 ไร่ หลังจากการยาสูบแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดเรียบร้อยทั้ง 3 ระยะแล้วเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2563 และที่ผ่านมา คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ครั้งที่ 1/2563 ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ได้มีมติปรับแผนสร้างสวนป่าเบญจกิติ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งมอบพื้นที่ของ กยท.

โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ และ กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

สำหรับระยะที่ 1 ในช่วง 8 เดือนแรก จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้มีช่วงเวลาสำหรับเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564

ส่วนระยะที่ 2 ดำเนินการในส่วนงานสวนที่เหลือ งานปรับปรุงอาคารเดิม ให้เป็นอาคารกีฬาและอาคารพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 (8 เดือน) ตามผังแม่บทสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 ตามที่ผู้ออกแบบเสนอ

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ดำเนินงานตามกระบวนการดำเนินงานจัดสร้างสวนป่า เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 จำนวน 4 กระบวนงาน ประกอบด้วย งานรื้อถอน งานออกแบบ งานจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) และ งานก่อสร้าง ดังนี้

1.งานรื้อถอน ได้จัดทำสัญญาจ้าง “บริษัท ช.อโยธยารื้อถอนและก่อสร้าง จำกัด” เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 8 หลัง แบ่งการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เป็น 3 ระยะ ตามการส่งมอบพื้นที่ของการยาสูบแห่งประเทศไทย บริษัทฯ ได้รื้อถอนอาคารและขนย้ายชากวัสดุที่ได้จากการรื้อถอนในพื้นที่ระยะที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว

สำหรับระยะที่ 3 (พื้นที่สีม่วง) บริษัทฯ ดำเนินการรื้อถอนอาคารภายในเดือนมิถุนายน 2563 หลังเสร็จสิ้นกระบวนการส่งมอบ-รับมอบที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563

2.งานออกแบบ ได้จัดสัญญจ้าง “บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์ จำกัด” เป็นผู้ออกแบบผังแม่บทและรายละเอียดโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 มีระยะเวลาการออกแบบ 120 วัน (ครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2563) โดยบริษัทฯ ผู้ออกแบบ ได้ดำเนินการในงานงวดที่ 1 แบบร่างขั้นต้น และงวดที่ 2 แบบร่างขั้นสุดท้าย ส่งมอบต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างออกแบบเรียบร้อยแล้ว

สำหรับงานออกแบบงวดที่ 3 แบบก่อสร้างฉบับสมบูรณ์ กรมธนารักษ์ได้แจ้งให้บริษัทฯ ผู้ออกแบบ ชะลองานออกแบบงวดที่ 3 เพื่อให้บริษัทฯ ผู้ออกแบบได้นำผลงานการออกแบบสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 เสนอคณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ

3.งานจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในกรอบวงเงิน 32,779,130 บาท โดยขอบเขตดำเนินงานของที่ปรึกษาครอบคลุมในงานออกแบบ งานจ้างก่อสร้าง ควบคุมการก่อสร้าง และการตรวจรับงาน

4.งานก่อสร้าง จะดำเนินการเมื่อได้แบบก่อสร้างฉบับสมบูรณ์จากผู้ออกแบบ เพื่อนำมาจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในกรอบวงเงิน 669,753,111.35 บาท มีกำหนดเวลาก่อสร้าง 16 เดือน โดยมีแผนการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ

-ระยะที่ 1 ในช่วง 8 เดือนแรก จะก่อสร้างให้แล้วเสร็ในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้มีช่วงเวลาสำหรับเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564

-ระยะที่ 2 ดำเนินการในส่วนงานสวนที่เหลือ งานปรับปรุงอาคารเดิม ให้เป็นอาคารกีฬาและอาคารพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 (8 เดือน)

ก่อนหน้านี้ นายสันติ ให้สัมภาษณ์ว่า ในการปลูกต้นไม้ในสวนป่าเบญจกิตินั้น ได้รับข้อเสนอแนะจาก ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำริของสมเด็จฯพระพันปีหลวง โดยออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้มีต้นไม้ที่ออกดอกเป็นกลุ่มตามลักษณะพันธ์ไม้ดอกที่มีสีใกล้เคียงกัน เช่น ตะแบก อินทนิลเสลา เป็นสีม่วงปลูกรวมกัน เวลาออกดอก ก็จะหนาแน่น เหมือนในต่างประเทศที่ปลูกซากุระ

ซึ่งผู้ออกแบบเสนอผังการปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มออกดอกทั่วสวนตลอดทั้งปี โดยมีพันธ์ไม้สำคัญ เช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ออกดอกสีชมพูช่วงเดือนธันวาคม สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกฝั่งต้นไม้ดอกเป็นสีส้ม ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม สื่อถึงสมเด็จฯพระพันปีหลวง แกนกลางสวนเป็นต้นรวงผึ้ง มีดอกสีเหลือง กลิ่นหอม เป็นต้นไม้ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 10 ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม

นอกจากนี้ ผู้ออกแบบได้เสนอแนวคิดก่อสร้างหอสูงชมเมือง เป็นรูปดอกบัวกลางน้ำ ประชาชนสามารถขึ้นไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชมภูมิทัศน์ กรุงเทพฯ แบบ 360 องศา โดยจะให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย เพราะสวนป่าแห่งนี้ ได้ดำเนินการบนพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงใจกลางเมือง ไม่สามารถหาได้อีกด้วยคุณค่าที่มีมหาศาล ดังนั้นน่าจะเตรียมสัญลักษณ์สำคัญเป็นที่เชิดชูในอนาคต นอกจากจะให้คนไทยเข้ามาเยี่ยมชมแล้ว ยังจะเป็นจุดดึงดูดที่สำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

“ผืนป่าแห่งนี้นอกเหนือจากเป็นปอดของคนกรุงเทพ ที่จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และดูแลด้านสิ่งแวดล้อม แล้ว ยังเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯทุกคน ที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมของประชาชน เพราะไม่ว่าคนในระดับใด ทุกสาขาอาชีพ ทุกชาติศาสนา สามารถมาเยี่ยมชม มาใช้ สวนป่าเบญจกิติ ซึ่งถือเป็นสมบัติที่มีคุณค่าของประเทศได้” นายสันติระบุ