จับตากำไรหุ้นกลุ่มแบงก์Q4 ส่ออ่อนตัวลง เหตุตั้งสำรองสูง

“บล.ทรีนีตี้” คาดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ไตรมาส 4 ส่อหดตัวลงต่อ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ภาครัฐ ส่งผลทั้งระบบต้องตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้นรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พร้อมเปิดตัวเลข 6 แบงก์งวด 9 เดือนตั้งสำรอง 1.5 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 63% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด  เปิดเผยว่า แนวโน้มผลดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในงวดไตรมาส ปี 2563 จะอ่อนตัวลงอีกจากไตรมาส ที่ได้ทยอยประกาศกันออกมาเกือบทั้งหมดแล้ว เพราะจะได้รับผลจากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองหนี้ที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ทำให้มีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ของภาครัฐ ในส่วนพักชำระเงินต้นระยะเวลา 6 เดือนครบกำหนด ขณะที่ลูกหนี้บางส่วนที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งได้พ้นระยะเวลาการพักชำระไปแล้วและได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่อก็มีความเสี่ยงในเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไหลย้อนกลับมาได้

จากรายงานผลประกอบการงวด 9  เดือน ธนาคารพาณิชย์ แห่ง ที่ทางทรีนีตี้ทำการศึกษา ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทย (TMB) และทิสโก้ (TISCO) พบว่า มีการตั้งสำรองหนี้ (ECL) งวด 9 เดือน อยู่ที่ 154,058  ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 63% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากแต่ละธนาคาร ได้มีการปรับแบบจำลองการตั้งสำรองหนี้ เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจในอนาคตและมีการตั้งสำรองส่วนเกิน เพิ่มเติม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ส่งผลให้กำไรกลุ่มฯ งวด 9 เดือน อยู่ที่ 79,129  ล้านบาท  ลดลง 37% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

“หากดูตัวเลข NPLของ 6 ธนาคาร พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะยังได้รับผลจากการที่ลูกหนี้บางส่วนในปัจจุบันยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 จึงยังสามารถคุม NPL ได้แต่อนาคตก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงเมื่อมาตรการสิ้นสุดลง” นายธนภัทร กล่าว

สำหรับคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร ยังคงให้น้ำหนักเท่ากับตลาด โดยแนะนำหุ้นเด่นในกลุ่ม ได้แก่ TISCO ราคาเป้าหมายที่ 89 บาท ขณะที่ยังแนะนำซื้อสำหรับธนาคารขนาดใหญ่เช่นกัน อาทิ BBL ให้ราคาเป้าหมายที่ 119 บาท SCB ให้ราคาเป้าหมายที่ 83 บาท และ KBANK ให้ราคาเป้าหมายที่ 95 บาท