“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินใหม่ ส่งออกไทยปีนี้ อาจหดตัวน้อยกว่าคาด

ส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกของไทย โดยล่าสุด ส่งออกไทยในเดือนก.ย. 2563 อยู่ที่ 19,621.3 ล้านเหรียญฯ หดตัว 3.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ส่งผลให้ 9 เดือนแรกการส่งออกไทยหดตัว 7.3% YoY โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ดีเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยผลักดันส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่บ้าน (work from home) ที่ส่งผลให้อุปสงค์ของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ประกอบกับมีการเร่งส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรก็กลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและผักผลไม้ ขณะที่สินค้าประเภทอาหาร เช่น ทูน่ากระป๋อง สุกรแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยงก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สินค้าที่การส่งออกหดตัวในเดือนก.ย. 2563 ส่วนมากยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมๆ เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ข้าว และน้ำตาลทราย ขณะที่การส่งออกทองคำในเดือนก.ย. 2563 กลับมาหดตัวที่ 9.2% เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับลดลง หลังจากขยายตัวอย่างมากในเดือนก่อนหน้า

หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่การส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม และมาเลเซีย ก็พลิกกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปก็หดตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอุปสงค์โลกมีการฟื้นตัว โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการที่สะสมจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand)

ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออกไทยใน 9 เดือนแรกหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทบทวนประมาณการส่งออกไทยปี 2563 โดยคาดว่า จะหดตัวลดลงมาอยู่ที่ 7.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 12.0%

โดยสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/2563

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 4/2563 ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยการแพร่ระบาดซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่การแพร่ระบาดระลอกสองนั้นรุนแรงกว่าในรอบแรกอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยนั้นลดลง ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และประเด็นเบร็กซิทที่ยังตกลงกันไม่ได้ น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและกดดันการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า

ขณะที่ประเด็นความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังคงคุกรุ่นและจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะยังคงผันผวน ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการส่งออกทองคำจะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้การส่งออกไทยผันผวนได้ในระยะข้างหน้า