รถไฟฟ้าสายสีทองเปิดวิ่ง 16 ธ.ค.นี้ สีเขียวหมอชิต-คูคต ยังนั่งฟรี

รถไฟฟ้า

16 ธ.ค. เปิดรถไฟฟ้าสายสีทอง-สายสีเขียว 7 สถานีใหม่ยาวถึงคูคต กทม. ให้นั่งฟรีถึง 1 ม.ค. 2564 ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถ 8.2 พ้นล้าน ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 นี้ จะดำเนินการเปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือช่วงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ – คูคต อีก 7 สถานี ระยะทาง 9.8 กม. โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเวลา 09.00 น. หลังจากนั้นก็จะไปเปิดรถไฟฟ้าสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน ระยะทาง 2.8 กม. ในช่วง 11.00 น.

ทั้งนี้ ในส่วนของสายสีเขียว แม้จะยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสัมปทานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แต่เบื้องต้นจะเปิดให้โดยสารฟรีไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2564 หลังจากนั้นค่อยคิดกันว่าจะทำอย่างไร

แต่ กทม.จะไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ อาจจะต้องของบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ ซึ่ง กทม.ยอมแบกภาระหนี้เดินรถต่อไปก่อน โดยมูลหนี้ค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ต้องจ่ายให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ขณะนี้อยู่ที่ 8,200 ล้านบาท ไม่รวมค่าโครงสร้างและงานระบบอีก กทม.ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย แต่ค่อยว่ากัน

“ยืนยันว่าเงินที่ค้างอยู่ 8,200 ล้านบาท จะหาใช้คืนเอกชนแน่ แต่จะด้วยวิธีการไหนขอให้มีมติ ครม.เรื่องสัมปทานก่อน และไม่ว่าจะออกในแนวทางไหน ก็จะเดินรถเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 4 ธ.ค. 2563 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเรื่องการเก็บค่าโดยสารตามสัมปทานใหม่อัตรา 15-65 บาท

1.ปัจจุบันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารและรับรายได้ค่าโดยสารจากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ในส่วนเส้นทางเดิมของสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร ตามอายุสัญญา 30 ปี หรือ ตั้งแต่ ปี 2542 –2572

ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจร และลดมลภาวะในเมืองใหญ่ อย่าง กรุงเทพมหานคร ประการสำคัญยังเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางในแต่ละพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชน กระทั่งนำมาสู่ความร่วมมือกับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร

สำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายจากเส้นทางเดิมของสัมปทาน คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) รวมถึงส่วนต่อขยายเพิ่มเติมของสายสุขุมวิทจากแบริ่ง ไปเคหะ และจากหมอชิต ไปคูคต

2.ขณะที่การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานเดิม รถไฟฟ้าบีทีเอส ในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารรถไฟฟ้า ระยะทาง 23.5 กม. เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารปัจจุบันในอัตรา 16 ถึง 44 บาท (ตามระยะทาง) ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมด (อ่อนนุช-สำโรง-เคหะฯ วงเวียนใหญ่-บางหว้า หมอชิต-วัดพระศรีฯ) กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร

3.ข้อเท็จจริงสำคัญที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในฐานะผู้ลงทุนขบวนรถ ส่วน กทม. ในฐานะผู้ลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 59 สถานี รวมระยะทางถึง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ โดยมีความคืบหน้าพร้อมเปิดเป็นทางการครบทั้ง 59 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 นี้

4.อีกหนึ่งข้อเท็จจริงเช่นกัน ประเด็นค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต ยังคงเป็นการกำหนดโดยกรุงเทพมหานคร BTSC อยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เท่านั้น

และที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการทำให้ค่าโดยสารมีอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้นจาก 15 บาท และรวมตลอดเส้นทางอยู่ในระดับไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพมหานคร จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท

จนนำมาสู่การเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมายและแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทยและอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

5.ทั้งนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ขอยืนยันในข้อเท็จจริงข้างต้น พร้อมย้ำอีกครั้งว่า ถึงแม้จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยาย จากหนี้คงค้างของกรุงเทพมหานครกว่า 8,000 ล้านบาท ทางบริษัทฯ ให้คำมั่นสัญญาจะรับผิดชอบให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส แก่ชาวกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เป็นปกติเช่นเดิมจนถึงที่สุด รวมถึงยืนยันหลักการในความร่วมมือกับทุกฝ่าย

โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้แผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมระยะทาง 68.25 กม. มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนกว่าจะมีความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)