พัฒนาชุมชนทุ่ม 5 ล้านพลิกโฉม OTOP ชู “ของที่ระลึก” 9 มงคลพรีเมี่ยมเซ็ต

พัฒนาชุมชนทุ่ม 5 ล้านพลิกโฉม OTOP ชู “ของที่ระลึก” 9 มงคลพรีเมี่ยมเซ็ต ดีไซน์หรูแข่งตลาดออนไลน์รับตรุษจีน

การผลักดันสร้างสรรค์สินค้า “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือสินค้า OTOP โดยหลายหน่วยงานของภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนชาวบ้านหลายจังหวัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่สินค้าหลากหลายผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย

เพราะได้รับคำสั่งซื้อบินไกลไปตีตลาดถึงสหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ อย่างที่หลายคนมักพูดติดปากว่า “สินค้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

แต่วันนี้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยอดขายสินค้า OTOP หลายประเภทประสบภาวะวิกฤต ทั้งชะลอตัวและนิ่งสนิทเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น

ทุ่ม 5 ล้านขับเคลื่อน OTOP

ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนมีรายได้หมุนเวียน “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยพยุงขับเคลื่อนการทำตลาดสินค้า OTOP โดยจัดทำ“โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม”

ด้วยงบประมาณ 5,220,000 บาท สนับสนุน “สินค้าชุมชนสู่ตลาดพรีเมี่ยม” โดยการนำผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ เข้าไปเปิดอบรมให้ความรู้กับชุมชน โดยเฉพาะการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือดีไซน์ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะการแนะนำช่องทางการบุกสู่ตลาดออนไลน์

โดย “สุทธิพงษ์” กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมประเภทของที่ระลึก ซึ่งได้คัดเลือกผู้ประกอบการจากทั่วประเทศจำนวน 50 ราย มาเข้าสู่การพัฒนาทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

โดยมุ่งเน้นให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน แต่ยังคงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนไว้ ที่สำคัญต้องเหมาะสมต่อการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์และการขนส่ง

“ที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน

โดยเฉพาะการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางน้อยลงตั้งแต่การระบาดรอบแรกในช่วงต้นปี 2563 ต่อเนื่องมายังการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน”

ชูพรีเมี่ยมของที่ระลึก 9 มงคล

“สุทธิพงษ์” บอกว่า ปกติผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทของที่ระลึก แต่ละชุมชนมีรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในชุมชน กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ยกระดับผู้ประกอบการและนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนามาทดลองจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

ทั้ง Facebook, Lazada และ Shopee มีทั้งการจำหน่ายแยกรายผลิตภัณฑ์ และการจัดชุดให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 9 ชุด อาทิ ชุดเสน่ห์เมืองเหนือ ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากจังหวัดในภาคเหนือ 7 ชิ้นมาจัดอยู่ในเซต หรือชุด 9 มงคล ที่นำของที่ระลึกสื่อถึงความเป็นมงคลแก่ผู้ให้และผู้รับ ซึ่งการทดลองจำหน่ายผ่านออนไลน์ดังกล่าวสร้างรายได้กว่าครึ่งล้านบาท

ทั้งนี้ สินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ถูกพัฒนามาเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ถูกจัดจำหน่ายไว้หลายช่องทาง อาทิ Facebook เพจ OTOP go Premium, ร้านค้าออนไลน์/Shopee Thailand/ช็อปออนไลน์ที่ OTOP go Premium/Lazada.co.th

“ธงชัย แหวนเพชร” ผู้ประกอบการสินค้า OTOP จากกลุ่มไม้ธงชัย บ้านตอแก ต.บ้านฝาง อ.สระใคร จ.หนองคาย เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสินค้า OTOP ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 2 ปี ก่อนได้เข้าร่วมโครงการ OTOP พรีเมี่ยมในช่วงปลายปี 2563 หรือประมาณเดือนธันวาคม 2563

ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มไม้ธงชัยเป็นการนำรากไม้ เช่น รากไม้ประดู่มาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ถาดผลไม้ ชุดน้ำชา แจกัน ซึ่งส่งประกวดกับกรมการพัฒนาชุมชน และได้รับรองเป็นสินค้า OTOP 5 ดาว หลังจากนั้น

ทางกรมการพัฒนาชุมชนจึงเล็งเห็นศักยภาพและบอกว่าสินค้าสามารถพัฒนาให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ โดยให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ทุกระดับราคา นำไปเป็นของฝากได้ สามารถส่งขายออนไลน์ได้ทั่วโลกด้วยการทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สะดวกต่อการขนส่ง ซึ่งทางกรมการพัฒนาชุมชนจะเป็นผู้โปรโมตและหาตลาดให้

“สินค้าผมก่อนยกระดับมีหลายขนาด ราคาเริ่มต้นที่ 200-10,000 บาท มีเป็นชุดน้ำชา ส่งออกไปจีน เกาหลี สปป.ลาวบ้าง รายได้เฉลี่ย 7-8 แสนบาทต่อปี แต่โควิดส่งผลกระทบมาก

ยอดขายลดลงไปกว่า 70% มีเพียงขายออนไลน์ให้กับลูกค้าเดิมทาง LINE และ Facebook ภายในประเทศเท่านั้น หลังจากยกระดับขึ้นเป็นสินค้าพรีเมี่ยมก็มีสินค้าโดดเด่น เช่น นาฬิกาแขวน เริ่มมีมาตรฐานการผลิตมากขึ้น ขายได้มากขึ้น โดยรวมสินค้าทุกประเภทราคาเริ่มต้นยังคงไว้ที่หลักร้อยบาท และสูงสุด 90,000 บาท”

“ธงชัย” บอกว่า จากที่กรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาช่วยยกระดับสินค้าให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมนั้น มีการสนับสนุนทั้งเงินค่าผลิตภันฑ์ ค่าต้นทุนการผลิต และมีทีมเข้ามาทำตลาด

รวมทั้งขายให้ด้วย ทำให้สามารถคาดหวังการเติบโตของธุรกิจได้มากกว่าเดิม เพราะผลตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี โดยนาฬิกาแขวนทดลองตลาดแล้วขายได้เกินกว่า 50% นอกจากนี้ ยังมีชุดชา และวางแผนจะเพิ่มผลิตภัณฑ์อื่นอีกด้วย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยระบุว่า โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Tambon One Product (OTOP)

เป็นโครงการที่มุ่งหวังให้คนในชุมชนได้นำภูมิปัญญาที่มีอยู่มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนให้สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

โดยสามารถจำหน่ายในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากหมู่บ้านหรือตำบล โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ (product) มีกิจกรรมคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการตลาด การผลิต การบริหารจัดการ

และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านการผลิตให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และความต้องการของตลาดสากล โดยที่พลังกาย (energy) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และความปรารถนา (desire) ที่จะใช้ทรัพยากรที่หาพบในท้องถิ่นเป็นหลัก

และเพื่อที่จะเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และนำไปสู่เป้าหมายของการกินดี อยู่ดี คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น


ดังนั้น อีกไม่กี่วันจะถึงเทศกาลตรุษจีน หากใครกำลังมองหาของที่ระลึกไปฝากลูกค้าระดับ VIP และญาติผู้ใหญ่ลองเข้าไปเลือกชมสินค้าจากเพจ OTOP go Premium เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสินค้าของชาวบ้านในชุมชนต่างจังหวัดกันได้