“พนัส” ยันเป็นสิทธิของ “ยิ่งลักษณ์” ร้องขอศาลฎีกาฯส่งศาลรธน.ตีความ ม.5 ขัดรธน.

“พนัส” ยกกฎหมาย ชี้เป็นสิทธิ “ยิ่งลักษณ์” ปมร้องขอศาลฎีกาฯส่งศาลรธน.ตีความ ม.5 ขัดรธน. ยันไม่ใช่การประวิงเวลา

วันที่ 17 กรกฎาคม นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตสสร. รัฐธรรมนูญปี 40 กล่าวถึงกรณีทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า จากการศึกษามาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ให้ยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก และให้ศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แต่ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 235 วรรค 6 กำหนดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจมีการไต่สวนหาพยานหลักฐานข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้นหลักของมาตรา 235 เป็นหลักใหม่ ไม่ใช่การให้ใช้ดุลพินิจเหมือนเดิมแล้ว แต่เป็นหลักความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนเพิ่มเติมได้ ต้องคำนึงต้องไม่ให้เกิดความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบกัน

“ด้วยเหตุนี้ บทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้ใช้ดุลพินิจของศาลในการพิจารณาว่าสมควรมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ จึงขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 235 วรรค 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งในแง่เจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษร” นายพนัสกล่าว

นายพนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรณีคดีโครงการรับจำนำข้าว นอกจากที่ผ่านมามีการรวบรัด สำนวนยังไม่สมบูรณ์แล้ว ยังมีการไปเอาหลักฐานมาเพิ่ม ที่ไม่ได้น้อยๆอย่างรายงานผลการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเอกสารเป็นหลายพันแผ่น ซึ่งทาง ป.ป.ช.ไม่ได้กำหนดให้ทำ และยังเอาคดีอื่นๆเข้าไปอีก ซึ่งเป็นการผิดหลักตามที่กฎหมายกำหนดที่ให้ยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี โดยทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสียเปรียบ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอสืบพยายามเพิ่มเติมเ แต่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบแน่นอน ตรงนี้จึงถือเป็นสิทธิของคู่ความที่จะร้องขอให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมาตรา 212 ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับคดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่วามโต้แย้งพร้อมให้เหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย โดยระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่ามีคำวินิจฉันของศาลรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ โดยทั้งนี้ไม่ถือเป็นการประวิงเวลา แต่เป็นสิทธิในการต่อสู้คดีในประเด็นที่เขาคิดว่าต่อสู้ได้ แต่หากศาลฯไม่ส่งให้ศาลวินิจฉัย ฝ่ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับคำร้องของทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม โดยแจ้งว่าหากองค์คณะมีความคิดเห็นเป็นประการใดและจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญฉัยหรือไม่นั้น โดยขึ้นอยู่ดุลพินิจขององค์คณะทั้ง 9 คน ซึ่งจะแจ้งให้จำเลยทราบในวันที่ 21 กรกฎาคม

 


ที่มา : มติชนออนไลน์