เปิดไทม์ไลน์ ชายไทย ติดโควิด-19 สายพันธุ์ “แอฟริกาใต้” รายแรก

โควิด แอฟริกาใต้

ศบค. เผยไทม์ไลน์ ชายไทยรายแรก ติดโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ “South African Varient”

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงสถานการณ์โควิดประจำวัน แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เปิดเผยประวัติการเดินทางของชาย วัย 41 ปี ซึ่งพบติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (South African Variant) รายแรกของประเทศไทย

ชายดังกล่าว ได้ไปรับซื้อพลอยในแทนซาเนีย นาน 2 เดือน ระหว่างที่อยู่แทนซาเนีย ได้เข้าร่วมงานเลี้ยง โดยผู้เข้าร่วมงานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย โดยให้เหตุผลว่า ไม่พบเคสการติดเชื้อภายในประเทศ

วันที่ 29 มกราคม 2564 : เดินทางถึงประเทศไทยจากแทนซาเนีย โดยมีการต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย เข้าคัดกรองอาการป่วย ณ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีไข้และอาการป่วย พร้อมเดินทางไปกักตัวที่ State Quarantine

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 : มีการเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 พบ ผลบวก

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 : ส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยผู้ป่วยให้ประวัติว่า มีไข้ต่ำ ไอ รับไว้รักษาในห้องแยก

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 : ทีมสอบสวนโรคส่งตัวอย่างระบุสายพันธุ์ของโควิด-19 เนื่องจากผู้เดินทางมาจากแอฟริกา เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย (EID-TRC)

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 : ผลการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบเป็น South African Variant (98.64% coverage)

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 : ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่และกรมควบคุมโรค ลงประเมินการสัมผัสผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ ที่ State Quarantine และโรงพยาบาล พบว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจกรรมอย่างรัดกุม ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ PCR ในเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข

รวมทั้งเจ้าหน้าที่ใน State Quarantine รวม 41 โรงพยาบาล (โรงพยาบาล 31 ราย State Quarantine 10 ราย

ทั้งนี้ ประเทศที่มีรายงาน South African Varient ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา

สำหรับทางแนวทางการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ South African Varient ได้ปรับให้มีความไวมากขึ้น เช่น การเก็บตัวอย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการและประวัติเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลทันที รวมทั้งมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ที่ทันเวลาก่อนที่ผู้เดินทางจะออกจากโรงพยาบาล