ธรุกิจประกันชีวิต เบี้ยรวมหดตัว 6 แสนล้าน ตั้งเป้าปีนี้โต 1 %

“สมาคมประกันชีวิตไทย” คาดการณ์เบี้ยรวมธุรกิจประกันชีวิตปี’64 อยู่ระหว่าง 590,000-610,000 ล้านบาท หดตัว -1% ถึง 1% เผยปี’63 ทั้งระบบหดตัวน้อยกว่าคาดอยู่ที่ 600,206.47 ล้านบาท ปรับลดลงแค่ 1.75% แรงหนุนยอดขาย”ประกันสุขภาพ-บำนาญ-ยูนิตลิงก์”

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 600,206.47 ล้านบาท หดตัว 1.75% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นตัวเลขที่ปรับตัวน้อยกว่าที่สมาคมฯประมาณการไว้ว่าจะติดลบระหว่าง 2-5% โดยเบี้ยประกันรับใหม่ มีจำนวน 153,338.80 ล้านบาท ลดลง 11.29% แบ่งออกเป็นเบี้ยประกันรับปีแรก มีจำนวน 101,871.23 ล้านบาท ลดลง 6.31% และเบี้ยจ่ายครั้งเดียว(ซิงเกิ้ลพรีเมียม) มีจำนวน 56,467.57 ล้านบาท ลดลง 19.04%

ขณะที่เบี้ยประกันปีต่ออายุ มีจำนวน 441,867.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.18% แต่เป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่ลดลงจากปีก่อน จากผลของกรมธรรม์ครบกำหนดแต่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่

ทั้งนี้แบบประกันที่มียอดขายเติบโตสนับสนุนธุรกิจหลักๆ ประกอบด้วย เบี้ยประกันบำนาญ เติบโต 17.55% สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ เติบโต 7.32% และเบี้ยประกันชีวิตควบการลงทุน(Investment Link) เติบโต 3.39%

ทั้งนี้ถ้าแยกเป็นรายไตรมาส เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 เบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 149,970.80 ล้านบาท  เติบโต 0.93% ต่อมาในไตรมาส 2 เบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 135,970 ล้านบาท ติดลบ 7.52% ต่อมาไตรมาส 3 เบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 143,441.65 ล้านบาท ติดลบ 3.62% และในไตรมาส 4 เบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 170,824.03 ล้านบาท เติบโต 2.61% โดยภาคธุรกิจมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์เฉลี่ย 82%

ทั้งนี้ในปี 2564 สมาคมคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิต จะมีเบี้ยประกันรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000-610,000 ล้านบาท หดตัว -1% ถึง 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับเบี้ยประกันรับใหม่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 150,655-158,339 ล้านบาท หดตัว -5% ถึง 0% แยกออกเป็นเบี้ยประกันรับปีแรก คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 99,834-101,871 ล้านบาท หดตัว -2% ถึง 0% และเบี้ยจ่ายครั้งเดียว(ซิงเกิ้ลพรีเมียม) คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 50,821-56,468 ล้านบาท หดตัว -10% ถึง 0% และเบี้ยประกันปีต่ออายุ คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 441,868-447,612 ล้านบาท หดตัว 0% ถึง 1%

ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) เพิ่มขึ้น 2.5-3.5% ประกอบกับเรื่องการเข้าถึงวัคซีนของประเทศไทยที่คาดว่าจะมาถึงไทยและจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนได้ในปี 64 รวมถึงมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจจากภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ