ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังพุ่งต่อ แม้เฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย

Baht-ดอลลาร์

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังพุ่งต่อ แม้เฟดยังไม่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังกังวลภาวะเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินบาทปิดตลาด ที่ระดับ 30.82/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (15/3) ที่ระดับ 30.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 30.77/78

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันจันทร์ (15/3)

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงความเห็นตอบโต้ความวิตกกังวลของผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนส่วนหนึ่งที่ระบุว่า มาตรการฟื้นฟูเยียวยามูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับการอนุมัติและกำลังนำมาใช้อยู่ในเวลานี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐเร็วขึ้น ซึ่งความเสี่ยงสำคัญที่สหรัฐเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือ ปัญหาเรื่องแรงงานที่มีคนว่างงานมากขึ้นและนานขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง ดังนั้นเมื่อได้แผนกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ย่อมเป็นธรรมดาที่ราคาต่าง ๆ จะปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในคืนวันพุธ (17/3) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินหลัก ภายหลังจากที่ เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 ขณะที่ระบุว่าจะยังคงนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง หรือ MBS ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ เฟดยังระบุด้วยว่าจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินจนกว่าจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และการมีเสถียรภาพด้านราคา

ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกครั้งจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากที่เฟดยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังไม่มีแผนปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE

นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในยุโรป ทำให้บางประเทศในภูมิภาคยุโรปต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งกดดันสินทรัพย์เสี่ยงและหนุนให้นักลงทุนเข้าถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.67-30.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดวันศุกร์ (19/3) ที่ระดับ 30.82/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (15/3) ที่ระดับ 1.1965/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 1.1914/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจในยุโรปด้วย

โดยเงินเฟ้อของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นตามคาดในเดือนกุมภาพันธ์โดยอยู่ที่ระดับ 0% จากคาดการณ์ว่าจะ -0.1% ขณะที่สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ ZEW บ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเยอรมนีเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนมีนาคม โดยตัวดัชนีดังกล่าวออกมาที่ระดับ 76.6 สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 74.0 ซึ่งได้แรงหนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1881-1.1988 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1925/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (15/3) ที่ระดับ 108.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 109.09/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยตลาดยังคงจับตารอการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 18-19 มีนาคมนี้ เพื่อรอดูท่าทีผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นต่อการปรับตัวสูงขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐว่าจะมีผลกระทบต่อโครงการซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นอย่างไร

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นถือครองสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.948 ล้านล้านเยน (18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนลดการใช้จ่าย และหันมาเพิ่มการสำรองเงินสดในครัวเรือน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภาคครัวเรือนถือครองสินทรัพย์เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลออกโครงการแจกเงินสด 100,000 เยนให้กับประชาชนทุกคนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจผ่านทางการสนับสนุนการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.59-109.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ