สธ. จัดหา “ฮอสพิเทล” รองรับผู้ป่วยในกทม.-ปริมณฑลอีก 7,000 เตียง

โควิด-19 ปกใน 10

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมจัดหาฮอสพิเทล เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด กทม.-ปริมณฑลเพิ่มกว่า 5,000-7,000 เตียง พร้อมกำชับโรงพยาบาลหรือคลินิก หากตรวจพบผู้ติดเชื้อแต่ปฏิเสธรักษา ไม่ประสานหาเตียงให้ มีโทษทั้งจำและปรับ

วันที่ 15 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า คณะกรรมการจัดหาเตียงรองรับผูป่วยโควิดมีประชุมทุกวันเพื่อเตรียมโรงพยาบาลในทุกสังกัด ทั้งสังกัดสธ. สังกัดกองทัพ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน เตรียมไว้ทั้งหมด 6,525 เตียง ปัจจุบันมีการใช้ไป 3,700 กว่าเตียง

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นการเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยการหนักถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเพื่อเป็นการลดความแออัดสถานพยาบาลทางกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สบส.จัดตั้งฮอสพิเทล หรือการจัดหาโรงแรมมาตั้งเป็นโรงพยาบาลชั่วคราว สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 2 กลุ่มคือ กลุ่มไม่มีอาการ และกลุ่มที่รักษาในโรงพยาบาล 4-5 วัน แล้วอาการปกติจะต้องย้ายมาอยู่ที่ฮอสพิเทล

ฮอสพิเทลบริการเทียบเท่าสถานพยาบาล

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ฮอสพิเทลเราได้ทำมาตรฐานในการตรวจประเมินขึ้นทะเบียนทั้งเชิงโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ความเป็นมิตรต่อชุมชน รวมทั้งการจัดบริการทางการแพทย์ ในทุกฮอสพิเทลจะต้องมีแพทย์ประจำดูแลทุกเตียง รวมทั้งมีพยาบาลดูแล อัตราส่วนที่ 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล พร้อมด้วยเครื่องมือสำคัญ เช่น ปรอทวัดอุณหภูมิดิจิตอล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่

การย้ายผู้ป่วยเข้ามาจะต้องถูกคัดกรองโดยโรงพยาบาลหลักก่อน ซึ่งจะเลือกผู้ป่วยที่มีความปลอดภัยสูงเท่านั้น เช่น อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่คนท้อง หรือมีผลบวก ไม่มีการเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถย้ายมาฮอสพิเทลได้ ระหว่างรักษาหากมีอาการแย่จะถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลพี่เลี้ยงของฮอสพิเทลนั้นๆ

เตรียมหาเพิ่มราว 7,000 เตียง

ขณะนี้มีฮอสพิเทลแล้ว 23 แห่ง รวม 4,900 เตียง มีผู้ป่วยเข้าไปใช้แล้ว 2,000 กว่าเตียง ทั้งนี้คณะกรรมการได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่วันละมากกว่า 400-500 คน ฉะนั้นก็ได้มอบหมายภาคส่วนต่าง ๆ เตรียมการ หาเตียงหรือฮอสพิเทลเพิ่ม คาดว่าจะเตรียมให้ได้ประมาณ 5,000-7,000 เตียง น่าจะเพียงพอต่อการรับมือถ้าผู้ป่วยเพิ่มหลักพันรายต่อวัน

ทั้งนี้ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษาที่ฮอสพิเทลเพื่อไม่ให้เป็นภาระประชาชนเกินไป ถ้าหากมีประกันสุขภาพส่วนบุคคลสามารถเบิกได้ แต่ถ้าไม่มีก็จะได้รับสิทธิ์ตามสิทธิในการรักษาพยาบาลของภาครัฐ

พิจารณาโทษโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธผู้ป่วย

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ได้รับการแจ้งว่ามีคลินิกหลายแห่ง ที่ตรวจโควิด เมื่อประชาชนได้รับแจ้งผลว่าติดเชื้อแล้ว กลับไม่ดูแลผู้ป่วยให้ไปหาเตียงเอง ซึ่งจะทำให้เป็นภาระของประชาชนที่ต้องหาเตียงเอง และเดินทางเอง ดังนั้น สบส.จึงออกประกาศว่าคลินิกที่สามารถตรวจโควิดได้ ต้องมีระบบให้คำปรึกษาคนไข้ และต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อตรวจผลเป็นบวกจะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดต่อ พร้อมทั้งจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย

หากไม่ดำเนินการตามนี้สถานพยาบาลหรือคลินิกแห่งนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ประกาศนี้ออกมาเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน และก่อนไปตรวจที่คลินิกควรตรวจสอบด้วยว่าผ่านการรับรองมาตรฐานการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือไม่

ซึ่งตอนนี้เราพบโรงพยาบาลย่านบางนา และโรงพยาบาลเอกชนอีก 2-3 แห่งรวมถึงคลินิกเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธผู้ป่วย ตอนนี้กำลังมีการพิจารณาจะลงโทษ ขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อกำหนดว่าหากเจอผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ร่วมบ้าน สถานพยาบาล ผู้ทำการชันสูตร หรือผู้ประกอบกิจการ ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคทราบภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ เช่น สั่งให้กักตัวที่บ้านเพื่อรอเตียง หรือสั่งให้ไปรับการรักษาเพื่อลดการติดต่อสู่ผู้อื่น ก็จะมีความผิดโทษค่อนข้างแรง เพราะเสี่ยงที่จะแพร่กระจายของโรค จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท รวมทั้งกรณีปิดบังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคโควิด การให้ความเท็จหรือว่าการไม่ให้ข้อมูลก็มีโทษปรับ

“ทั้งหมดนี้ขอฝากว่าหากเราช่วยกันให้ข้อมูลการควบคุมโรคติดต่อก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าเราให้ความร่วมมือกันก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย” นพ.ธเรศกล่าว