ระทึก ! โหวตแผนฟื้นฟูการบินไทย เจ้าหนี้-คลัง เกี่ยงใส่เงินเพิ่ม

การบินไทยลุ้นเจ้าหนี้โหวตรับ-ไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้เกี่ยงใส่เงิน-ค้ำประกันอีก 5 หมื่นล้าน

วันที่ 23 เมษายน 2564 หลังจากการประชุมด่วนที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ในการประะชุมครั้งนี้ มีรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย 3 คน อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฏหมาย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับกระทรวงคมนาคมและ รมว.สาธารณสุข ส่วนนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการแผนฟื้นฟูการบินไทยรายหนึ่ง กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูการบินไทย ว่า ยื่นแผนฟื้นฟูไปแล้ว และรอเจ้าหนี้พิจารณาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ส่วนจะรับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ หากจะขอแก้ไขแผนฟื้นฟูก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้

“หากเจ้าหนี้ดูแผนแล้วไม่พอใจสามารถเสนอแผนเข้ามาพิจารณาใหม่ได้ เพราะแผนฟื้นฟูกิจการแก้ไขได้ตลอดเวลา ซึ่งแผนฟื้นฟูที่จะเสนอเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคม ที่เจ้าหนี้จะโหวตจะขอแก้เป็นรูปแบบอื่นก็ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่ใช่เพียงโหวตว่ารับหรือไม่รับ แต่เสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูใหม่ก็ได้ด้วย ส่วนกระทรวงการคลังถ้าจะช่วย ถ้าเจ้าหนี้คนอื่นจะเอาแบบไหนช่วยเอาตามนั้น แค่นั้นก็จบ” แหล่งข่าวให้ความเห็น

แหล่งข่าวรายนี้ระบุว่า แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่จะเสนอให้เจ้าหนี้พิจารณาในวันที่ 12 พฤษภาคม กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ โดยมีข้อเสนอจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ให้อัดเงินใส่การบินไทย 5 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็นเจ้าหนี้เก่าลงขัน 2.5 หมื่นล้าน อีก 2.5 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตุว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพิจาณา ข้อมูลร่วมกันว่า แผนการฟื้นฟูที่เขียนมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 เป็นไปไม่ได้ที่กระทรวงการคลังจะเพิ่มทุน เพราะผลประกอบการขาดทุนหนัก ติดลบส่วนผู้ถือหุ้นประมาณแสนล้านบาท การเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ใส่เข้าไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้นในการบัญชี

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วทำไม่ได้ แต่เมื่อไปรับปากเจ้าหนี้รายอื่นไว้แล้วว่า รัฐบาลจะช่วย 2.5 หมื่นล้านบาท จึงต้องหาแนวทางใหม่ โดยให้การบินไทยกู้จากแบงก์รัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท แต่แบงก์รัฐมีเงื่อนไขว่า กระทรวงการคลังต้องค้ำประกันให้ แต่ทำไม่ได้ เพราะการบินไทยเป็นเอกชน พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว แบงก์รัฐจึงไม่ร่วมใส่เงินให้

จึงเป็นเหตุผลให้ต้องกลับไปพิจารณากันว่า ให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่สุดท้าย กระทรวงการคลังเพิ่มทุนให้ตามแผนไม่ได้ จึงหาทางไปกู้แทน แต่ก็มีปัญหาวนกลับไปที่เรื่องคนค้ำประกัน

ทั้งนี้ ถ้าในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เจ้าหนี้โหวตเห็นด้วย กระทรวงการคลังก็ต้องหาทางช่วยการบินไทย  แต่ยังคาดการณ์ ผลการโหวตไม่ได้ พราะเจ้าหนี้มีสิทธิ์เสนอรูปแบบอื่น ถ้าไม่เห็นด้วยกับแผนที่มีการนำเสนอไป

แหล่งข่าวกล่าวถึงการประชุมที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลล่าสุดวันศุกร์ ที่ 23 เมษายน ว่า รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับกระทรวงคมนาคม และ รมว.คมนาคม ไม่เห็นด้วยที่จะให้กระทรวงการคลังใส่เงินเข้าไปอีก 5 หมื่นล้านบาท และให้การบินไทยมีสถานะกึ่งรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชน และคุมสายการบินแห่งชาติ แต่เห็นว่าถ้าคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้าน การตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่ จะคุ้มกว่า