เมื่อโลกหันหลังให้ “น้ำมัน”

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ในอดีต “น้ำมัน” นอกจากเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก ยังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก บริษัทน้ำมันหรือประเทศที่มีแหล่งน้ำมันกลายเป็นประเทศร่ำรวยแบบที่เรียกว่า “เศรษฐีน้ำมัน” ขณะที่บรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ก็ติดทำเนียบบริษัทที่มีมูลค่าอันดับต้น ๆ ของโลก

แต่จากทิศทางราคาน้ำมันขาลงช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัญหาซัพพลายล้น เพราะการเกิดขึ้นของ “เชลออยล์” รวมทั้งการให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะ “โลกร้อน” ส่งผลให้นานาประเทศมุ่งเน้นการใช้ “พลังงานทางเลือก” ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และอื่น ๆประกอบกับทิศทางใหม่ของโลกยุค 4.0 ทำให้ความสำคัญของ “น้ำมัน” น้อยกว่า “ข้อมูล” ทำให้ธุรกิจน้ำมันอาจไม่ใช่ผู้กุมชะตาอุตสาหกรรมโลกอีกต่อไป และหนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนคือ ตอนนี้เกิดปรากฏการณ์หลายประเทศทั่วโลกทยอยประกาศนโยบายเลิกใช้รถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่พาเหรดกันออกมาประกาศเส้นตายเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในช่วงปี 2030-2040 เช่นที่ “เยอรมนี” ได้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้ค่ายรถยนต์ยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และหันมาส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถพลังงานที่ไม่ปล่อยมลพิษแทนภายในปี 2030

ขณะที่ “ฝรั่งเศส” และ “อังกฤษ” ตั้งเป้าห้ามการซื้อขายรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2040 รวมถึง “จีน” ตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้ง “อินเดีย” ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 อุตสาหกรรมยานยนต์จะผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ค่ายรถยนต์ทั่วโลกก็เร่งปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนา “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ไปจนถึง “รถยนต์ไร้คนขับ”
พร้อมกับพัฒนาการของเทคโนโลยีแบตเตอรี่

ดังนั้น เวลานี้ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก อย่างซาอุดีอาระเบีย และอีกหลายประเทศ จึงกำลังเผชิญความยากลำบาก และพยายามสร้างอุตสาหกรรมใหม่มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างเดียว ซึ่งหลายประเทศก็หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่น้ำมันทั้งหลายก็ดิ้นปรับตัว

เพื่อหา New S- curve ในการสร้างความอยู่รอดและความมั่นคงให้กับกิจการ เช่น ยักษ์พลังงานของไทย อย่าง ปตท. “เทวินทร์ วงศ์วานิช” ระบุว่า โอกาสการเติบโตก้าวกระโดดของ ปตท.อยู่ที่การค้นหาโอกาสและสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ยุคอนาคต ทั้งการลงทุนในสตาร์ตอัพด้านโรโบติก รวมถึงลงทุนในกองทุนด้านเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นลงทุนในนวัตกรรมการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

พร้อมกับเพิ่มบทบาทธุรกิจ “น็อนออยล์” ที่ทำให้ปั๊ม ปตท.เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน และไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ หรือร้านอาหารเท่านั้น เพราะต่อจากนี้จะเห็นบริการอื่น ๆ เข้ามาไว้ในสถานีบริการน้ำมันจนกลายเป็น “คอมมิวนิตี้” หรือการรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม รวมถึงใช้พื้นที่ศูนย์ “FIT Auto” ในปั๊มเป็นจุดรับส่งพัสดุรองรับการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซตามเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่

ขณะที่ “บางจาก” แม้ที่ผ่านมาจะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนไม่น้อย “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” บอกว่า ธุรกิจแห่งอนาคตที่บางจากให้ความสนใจก็คือ “แบตเตอรี่” ไม่ใช่การลงทุนผลิตแบตเตอรี่ แต่ไปลงทุนต้นน้ำของแบตเตอรี่ คือการร่วมลงทุนในเหมืองแร่ “ลิเทียม” ในอาร์เจนตินา และสหรัฐอเมริกา

และอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ของบางจากคือ “ธุรกิจชีวภาพ” ที่ล่าสุดได้จับมือกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (KSL) จัดตั้ง “เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น” กลายเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หมายถึง “เอทานอล” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
แต่ไม่ใช่เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล แต่เป้าหมายคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจไบโอฟาร์มาซูติคอล รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทรานส์ฟอร์เมชั่นรับมือกับโลกยุค 4.0 ของภาคธุรกิจต่าง ๆ ใน “อาเซียน 100” หนังสือฉบับพิเศษประจำปีที่แจกฟรี ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 16 พ.ย.นี้