เปิดเบื้องหลัง 12 อรหันต์ กุนซือประยุทธ์ ชงแจกเงิน-กู้ระลอกใหม่

แม้ว่ารัฐบาลจะมีคณะกรรมการระดับชาติในการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในรอบ 17 เดือน ถึง 13 ชุด

แต่เมื่อต้องลงมือในการออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ-ประชาชนผ่านมาตรการบรรเทาผลกระทบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะใช้ “องค์คณะพิเศษ” ในการระดมความคิดเห็น พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบ

แล้วจึงคลอดมาตรการ-งบประมาณ ด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข ด้วยการส่งเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบ “ด่วนที่สุด” ในแฟ้มที่ระบุว่า “วาระสำคัญของรัฐบาล” นอกเหนือจากวาระพิจารณาปกติ

12 อรหันต์ คลอดมาตรการเยียวยาระลอก 3

ต้นเรื่องก่อนที่ประชาชน นักธุรกิจ จะได้รับผลการเยียวยาที่มาจากผลการ “ประชุมนัดพิเศษ” ของบุคคลวงในที่สุด ที่นายกรัฐมนตรีไว้ใจที่สุด 12 คน ประกอบด้วย 1.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน 2.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 3.นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

4.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5.นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี 6.นายปิติ ตันฑเกษม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร ทีทีบี

7.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย 8.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ติดประชุม รมว.คลังอาเซียน มอบหมายปลัด) 9.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

10.พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 11.น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 12.นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทวีความรุนแรง-ต้องปิดกิจการ

วงประชุมพิเศษที่ตึกไทยคู่ฟ้า กางแผนที่สีแดงเข้มควบคุมสูงสุดเข้มงวด 6 จังหวัดที่ต้องมีมาตรการปิดกิจกรรม-กิจการ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และปทุมธานี และต้องสั่งยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 18 จังหวัด เป็น 45 จังหวัด และพื้นที่ควบคุมจาก 59 จังหวัด เป็น 26 จังหวัด ต้องกำหนดเวลาเปิด-ปิดห้างสรรพสินค้า การให้งดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในร้าน และขอให้ธุรกิจเอกชนร่วมมือทำงานที่บ้าน คาดว่าจะมีคนที่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ อาทิ ร้านค้ารายย่อย แรงงานใน-นอกระบบ

มาตรการปิดกิจกรรม-กิจการ ทำให้ธุรกิจ แรงงาน ประชาชน ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ขาดรายได้และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการดีไซน์มาตรการเยียวยารอบใหม่อย่างเร่งด่วน รวมทั้ง “สนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้สูง” ให้ร่วมใช้จ่ายผ่านโครงการรัฐบาลด้วย

ชงแจกแพ็กเกจใหญ่ ครอบคลุมทุกชนชั้น

การแจกเงินประชาชนทุกชนชั้นรอบล่าสุด ตามมติ ครม. 5 พ.ค. ต่อเนื่องมติ ครม. 11 พฤษภาคม ใช้เงินกู้รวม 245,500 ล้านบาท ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ คาดหวังเม็ดเงินหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 473,000 ล้านบาท

มาตรการที่รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานเบิก-จ่ายทำทันที คือ มาตรการลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำประปา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 2564) และปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้จ่ายเงินฉุกเฉินในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน

แจกด่วนหัวละ 2,000 บาท เราชนะ-ม.33 เรารักกัน

สำหรับมาตรการการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน จะเริ่มในเดือน มิ.ย. 2564 ประกอบด้วย โครงการ “เราชนะ” ที่มีคนได้รับการแจกเงิน 32.9 ล้านคน ด้วยการแจกเงินช่วยเหลือให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มโอนเงิน 20 พ.ค. และ 27 พ.ค. รวม 2,000 บาท มีเวลาใช้เงินสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

ตามด้วยกลุ่มมนุษย์เงินเดือนในระบบประกันสังคม ที่มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน 9.27 ล้านคน จะได้แจกเงินในนามของโครงการ “ม.33 เรารักกัน” โดยรัฐบาลจะโอนเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท อีก 2 สัปดาห์ เริ่มโอนเงิน 24 พ.ค. และ 31 พ.ค. รวม 2,000 บาท ใช้จ่ายถึง 30 มิ.ย. 2564

กระตุ้นการใช้จ่ายรากหญ้า-ชนชั้นกลาง 4 โครงการ

ในช่วงครึ่งปีหลัง ก.ค.-ธ.ค. 2564 รัฐบาลจะทุ่มจ่ายต่อเนื่องอีก 140,000 ล้านบาท ด้วยโครงการแจกเงินแบบ “คนละครึ่ง” และ “แจกตรง” อีก 4 โครงการ คือ

1.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน แจกเงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาท

2.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษในกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 2.5 ล้านคน แจกเงินให้เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาท

3.โครงการ คนละครึ่ง เฟส 3 จะแจกเงินให้กลุ่มคนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว 31 ล้านคน รายละ 3,000 บาท และเปิดลงทะเบียนรายใหม่เพิ่มอีก 16 ล้านคน เริ่มใช้จ่ายเงินในเดือน ก.ค.

4.โครงการใหม่เอี่ยมสำหรับผู้มีรายได้สูง ที่รัฐบาลคำนวณว่ามี 4 ล้านคน ในนามของโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐบาลจะแจก e-Voucher ให้ประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม ค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่เกิน 5,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนต่อวัน ในช่วง ก.ค.-ก.ย. 2564 และนำ e-Voucher ไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2564

จ่ายหมด 1 ล้านล้าน ระบาดใหม่พร้อมกู้เพิ่ม

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาทั้งหมดมาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 283 โครงการ วงเงิน 762,902 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.โครงการด้านสาธารณสุข มีการอนุมัติไปแล้ว 42 โครงการ อาทิ การจ่ายเพิ่มค่าตอบแทน อสม. และจ่ายผ่าน สปสช. การจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ วงเงิน 25,825.88 ล้านบาท

2.โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติไปแล้ว 232 โครงการ อาทิ โครงการคนละครึ่ง เฟส 1 และ 2 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการจ้างนักศึกษาจบใหม่ วงเงิน 138,181.40 ล้านบาท

3.โครงการที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยา อาทิ โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน และโครงการอื่น ๆ อนุมัติไปแล้ว 9 โครงการ วงเงิน 598,895.21 ล้านบาท


กระทรวงการคลังยืนยันว่า ถ้าหากมีการระบาดรอบ 4 รัฐบาลยังมีงบฯกลางที่จะสามารถดึงมาใช้ได้อีก 89,000 ล้านบาท รวมทั้งงบฯกลางฉุกเฉิน 50,000 ล้านบาท