เศรษฐกิจไทย ติดลบ -2.6 % สภาพัฒน์ แนะรัฐบาล ทำอะไรบ้าง

สภาพัฒน์แนะรัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง

เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 2564 ติดลบ -2.6 % สภาพัฒน์แนะรัฐบาล บริหารนโยบายเศรษฐกิจ 7 ข้อ เพื่อให้จีดีพี.ทั้งปี ขยายตัว 1.5-2.5 %

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวติดลบ -2.6%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 –2.5 ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก โน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

สภาพัฒน์ เสนอแนะประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2564 ดังนี้

  1. การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็วและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงระลอกใหม่ โดย การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และการเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการรองรับการแพร่ระบาด และการเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนในการรับการฉีดวัคซีน
  2. การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่ไปกับการพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติม และมีมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน และ การพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง
  1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ และการเร่งรัดยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม หาทางใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญ ๆ รวมทั้ง การเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และ การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
  1. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนโดย ด้วยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง เร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และ ขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญ ๆ
  1. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
  2. การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  3. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ