Data Driven Business ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ฐากร ปิยะพันธ์ กล่าวในงานสัมมนาประชาชาติ

“ฐากร” ซีอีโอ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ชู “Data Driven Business” กลยุทธ์เอาชนะคู่แข่งหลังโควิด แนะใช้ข้อมูลอินไซต์เข้าถึงความต้องการลูกค้า ฟันธงจากนี้ไปทุกธุรกิจเข้าสู่ยุค Data Business

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ในเครือมติชน หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับแรกของประเทศไทย จัดสัมมนาใหญ่ประจำปีในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 45 ในหัวข้อ “Thailand Survivor ต้องรอด” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับตัวพลิกสถานการณ์ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งกับเศรษฐกิจในภาพรวม ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน

เป็นการสัมมนาออนไลน์ที่หน่วยงานภาครัฐ กับนักธุรกิจชั้นนำร่วมให้ข้อมูล ถ่ายทอดเส้นทางการปรับตัว ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในยุคโควิด-19 ผ่านทาง facebook live prachachat และสื่อออนไลน์ในเครือมติชน

ประกอบด้วย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท อิตัลไทย นางสาวชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) และนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH กล่าวว่า โลกปัจจุบันนี้ มีข้อมูล (Data) เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งมีความสำคัญมาก มีตัวอย่างหลาย ๆ ประเทศที่ใช้ข้อมูลมาช่วยทำให้ประเทศดีขึ้น ช่วยให้ธุรกิจรอดจากวิกฤต ดังนั้น คนไทยเองก็ต้องรอด ต้องนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์

“ปัจจุบันประชากรทั่วโลกกว่า 7-8 พันล้านคน มีกว่า 50% เป็น Internet Active ขณะที่ในแต่ละวันเฟซบุ๊ก (facebook) สร้างดาต้าขึ้นมาบนโลกกว่า 4 เพตาไบต์ (Petabyte) เข้าใจง่าย ๆ คือ 1 เพตาไบต์ เท่ากับปริมาณหนังขนาด 4K ประมาณ 11,000 เรื่อง ข้อมูลเฟซบุ๊กว่าเยอะแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่ากูเกิล (Google) สร้างดาต้าขึ้นมาบนโลกเป็น 5 เท่าของเฟซบุ๊ก หรือประมาณ 20 เพตาไบต์ รวมถึงผมเองทุก ๆ วินาทีก็สร้างข้อมูลออกมา 1.7 เมกะไบต์ (Megabyte) ทั้งดูวิดีโอ YouTube เล่น Tik Tok คำถามคือว่าข้อมูลเหล่านี้สำคัญอย่างไร และนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง”

นายฐากรกล่าวว่า มร.มาซาโยชิ ซัน (Mr.Masayoshi Son) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซอฟต์แบงก์ (SoftBank) ที่เป็นบัดดี้กับแจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา ได้กล่าวไว้ว่า “ใครก็แล้วแต่ที่ควบคุมดาต้าได้ คนคนนั้น หรือธุรกิจนั้น ๆ จะครองโลกได้” หรือที่มักได้ยินกันว่า ข้อมูลคือ “Data is a new oil”  ซึ่งการนำ “น้ำมัน” หรือดาต้าไปใช้ต้องเอาไปกลั่นก่อน เพื่อให้ได้อินไซต์ของข้อมูล ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของธุรกิจที่จะอยู่รอดได้หลังจากโควิด-19 คือ ต้องทรานส์ฟอร์มโมเดลธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยดาต้าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ชนะคู่แข่งได้ และสุดท้าย ธุรกิจต้องปรับตัว ให้มีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมต่อเนื่องด้วย

“เดิมธุรกิจของเรา อาจกระจุกตัวอยู่แบบเดียว แต่ต่อไปอาจต้องหา New Business เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องมีสาขา เครื่องจักร หรือสินทรัพย์เยอะ ๆ เพราะต่อไปนี้ เราต้องแข่งกันบนสปีดและต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแน่นอนว่าใครที่ไม่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ จำเป็นอย่างมากที่ต้องปรับโมเดลให้สามารถมีกลยุทธ์ทางด้านออนไลน์มากขึ้น เพราะต้องสเกลให้ได้เร็วและสร้างประสบการณ์ที่้ดีให้กับลูกค้าได้ ซึ่งดาต้า จะเป็นจุดหนึ่งทำให้เราเอาชนะคู่แข่ง”

นายฐากรกล่าวว่า วิธีคิดต้องมาพร้อมการใช้ข้อมูล ถึงจะไปเจอสิ่งที่เรียกว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ เกิดนวัตกรรมใหม่” เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ปัญหา และตกผลึกเกิดเป็นไอเดีย ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งซื้อกล้วย แต่ไม่เคยกินหมด กินได้ครึ่งหวี อีกครึ่งหวีกินไม่ได้แล้ว ถ้าจะซื้อกล้วยดิบก็รอนาน ก็ต้องมาคิดว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้กินกล้วยสุกทุก ๆวัน เป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในเกาหลีใต้ ดังนั้นอาจไม่ต้องมีเทคโนโลยีอะไรเลยก็ได้ แต่เข้าใจปัญหาผู้บริโภค คิดดูว่ามีไอเดียอะไรที่

ดาต้าสำคัญตรงที่ช่วยให้เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น และช่วยบอกว่าควรจะพัฒนาอะไรให้มันดีขึ้น ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยอะไรบ้าง และจะหาลูกค้าใหม่อย่างไรได้บ้าง สำคัญไปกว่านั้น ดาต้ายังช่วยให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ไม่ใช่ตัดสินใจจากความรู้สึก

ในฐานะที่มาจากสายธุรกิจประกันของกลุ่มการเงิน ก็จำเป็นต้องนำดาต้าและดิจิทัล มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ ซึ่งเครือไทยโฮลดิ้งส์ (กลุ่มธุรกิจในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) วันนี้ก็วางแผนในการใช้ดาต้า เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร ปัจจุบันข้อมูลในอุตสาหกรรมประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งระบบประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี เติบโต 13% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

แต่เบี้ยประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เติบโตสูงถึง 38% และอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ เพิ่มขึ้นกว่า 20% นั่นหมายความว่าเทรนด์ต่อไปคนจะรักษาสุขภาพมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้นต้องวางกลยุทธ์ที่จะขายประกันสุขภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง

“ข้อมูลของบริษัทพบว่า คนส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคกระเพาะอักเสบ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม จึงควรให้ข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้บริโภค เช่น ช่วงอากาศร้อน อย่ารับประทานของดิบไม่ให้ป่วย จะได้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล และไม่เคลมประกัน แต่ถ้าป่วยแล้ว เราสามารถแนะนำได้ว่าโรงพยาบาลไหนค่ารักษาถูกที่สุด”

ในส่วนประกันรถยนต์ ก็สามารถดูข้อมูลได้ว่าจังหวัดไหน เมืองไหน อำเภอไหน เกิดอุบัติเหตุบ่อยสุด จะได้ป้องกันและแนะนำผู้บริโภคได้ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ช่วง 24 ชั่วโมง อุบัติเหตุเกิดบ่อยที่สุดคือ ช่วง 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม (ช่วงเลิกงาน) และช่วงที่อุบัติเหตุเกิดน้อยสุด คือ ช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 แต่การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งมูลค่าความเสียหายสูงมาก เพราะทัศนวิสัยไม่ดี หรือคนเพิ่งออกจากผับ ดื่มแอลกอฮอล์มาเต็มที่

เช่นเดียวกันผู้เอาประกัน ช่วงอายุก็มีความเสี่ยงแตกต่างกัน อาทิ คนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีพฤติกรรมการขับรถและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าโดยค่าเฉลี่ยทั่วไป และคนอีกกลุ่มอายุตั้งแต่ 70 ปี (ผู้สูงอายุ) ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง จากสายตาไม่ดีและการตัดสินใจช้า เพราะฉะนั้นจะเห็นกลุ่มคนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งจะถ่ายโอนค่าเบี้ยประกันที่ต่างกันด้วยเช่นกัน

“ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ปรับเปลี่ยนการวิเคราะห์และกำหนดราคาเบี้ยประกันได้ โดยอุตสากรรมประกันเป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะชนท้าย ชนหน้า ชนกำแพง ชนต้นไม้ ชนสัตว์ รูปแบบความเสียหายจะเป็นเท่าไรได้บ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดีไซน์และช่วยให้เราลดต้นทุนในการเคลมประกันได้ และช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตเคลมได้ด้วย”

ทั้งนี้ หลังจากนี้ไปทุกธุรกิจ จะเข้าสู่ยุคของการเป็น Data Business ดังนั้นไม่ว่าจะธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ต้องกลับไปดูว่ามีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง ซึ่งตนอยากฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าการเดินเรือต้องใช้เข็มทิศ เพื่อให้เราไปถึงจุดหมาย ข้อมูลหรือดาต้า ก็คือเข็มทิศในการดำเนินธุรกิจของเราตอนนี้”