ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เคลียร์ ยังไม่เปิดดีลวัคซีนกับ อปท.

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่เปิดดีลวัคซีนกับ อปท.

หมอนิธิ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กเคลียร์ ยังไม่มีนโยบายหรือพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องวัคซีนตัวเลือก

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฯลฯ แสดงความจำนงขอจองซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์คือวัคซีนซิโนฟาร์มจากจีน ซึ่งจะเข้ามาลอตแรกในเดือนมิถุนายน จำนวน 1 ล้านโดส

ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ติดล็อกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าระยะแรกเท่านั้นที่รัฐจะเป็นผู้ซื้อ อปท.และภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยตรงได้

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ตามกฎหมาย อปท.ทุกรูปแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พัทยา กทม.สามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนที่ต้องการได้ โดยสามารถดำเนินการได้เอง

แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า การดำเนินการทำไม่ได้ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งตรงไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ตามกฎหมาย สถ.จะต้องแจ้งไปยัง อปท.แล้วจึงจะแจ้งมหาดไทยทราบ โดยสรุปได้แจ้งไปยัง อปท. ให้ยุติการดำเนินการ จึงยังไม่มี อปท.จัดซื้อ เพราะข้อแนะนำดังกล่าว

ขณะที่นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยว่า สตง.ตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ สตง.จึงพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วยความสุจริตและโปร่งใส

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องจัดหาและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น ไม่ว่า อปท. ภาคเอกชน หรือหน่วยงานใดที่ประสงค์จะเข้ามาช่วยรัฐบาลในการจัดซื้อวัคซีน การกระจายวัคซีน ตลอดจนการฉีดวัคซีนและการดูแลประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนถือเป็นเรื่องที่ดีและควรต้องเร่งดำเนินการ

ส่วนประเด็นการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นเรื่องที่ สตง.พร้อมให้คำแนะนำ ตอบข้อสงสัย หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานที่มีความตั้งใจและพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

“สิ่งที่รัฐบาล หรือ ศบค. ต้องเร่งพิจารณาตัดสินใจให้ชัดเจน คือ จะมีนโยบายและข้อสรุปในเรื่องนี้อย่างไร และชี้แจงหรือสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการดำเนินการของภาครัฐ ทั้งในภาพรวมของประเทศและในระดับพื้นที่” นายประจักษ์กล่าวในตอนท้าย

ล่าสุด ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ต้องขอโทษอีกแล้ว ผมพูดไม่ชัด… ณ วินาทีนี้ ผมและราชวิทยาลัยฯ ยังไม่มีนโยบายหรือได้พูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไหน ๆ ในเรื่องวัคซีนตัวเลือกนะครับ นิธิ 1/6/64 #วัคซีนคืนชีวิตชีวาให้สังคมไทย #วัคซีนช่วยชาติ