เปิดมุมมอง “สาระ ล่ำซำ” จัดการต้นทุน-ค่าใช้จ่าย รับมือวิกฤตโควิด

เปิดมุมมอง “สาระ ล่ำซำ” เจ้าของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ที่มีสินทรัพย์รวมกว่า 5.7 แสนล้านบาท กับแผนรับมือวิกฤตโควิด ผ่านวิธีคิด วิธีตัดสินใจ การจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และการบริหารคน

วันที่ 20 มิถุนายน 2564 นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ mtl เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในมุมมองของผมการตัดสินใจทั้งการจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารคนต้องอยู่ภายใต้ Risk Culture หรือวัฒนธรรมการมองความเสี่ยงเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร และคงพันธะสัญญาที่เรามีให้กับผู้เอาประกันเป็นหลัก

โดยเราก็มองในมุมบวกเหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันต้องมีแผนรองรับหากเกิดเหตุการณ์การระบาดโควิดรุนแรงกว่านี้ หรือเศรษฐกิจติดลบไปมากกว่านี้ เหมือนทำแบบจำลองทดสอบภาวะวิกฤต(Stress Test) จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ให้ทุกบริษัทดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ Stress Test อาจจะมองในรูปตัวเลขการลงทุน หรือเงินสดจากตัวเบี้ยประกันไม่เท่ากัน แต่แผนของบริษัทก็พยายามจะมองในหลายๆ มิติออกมา เพื่อให้รู้ว่าภายใต้วิกฤตโควิดเราต้องดูแลองค์กรอย่างไร

เช่น เรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย และการลำดับความสำคัญ (มีไอเดียในหัวเต็มไปหมดจากหลายๆ ทีมงาน) เพราะเมืองไทยประกันชีวิตทำงานแบบทีมเวิร์ค ทั้งทีมอินโนเวชั่นเฮ้าส์(Fuchsia) ทรานฟอร์เมชั่นโฮม(The Garage by Muang Thai Life) และอีกหลายๆ ฝ่าย ซึ่งต้องมาลำดับความสำคัญว่าอะไรมาก่อนหลัง เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นตลอดเวลา วันนี้เบี้ยประกันชีวิตในอุตสาหกรรมโต แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หรือเทรนด์ในอนาคตจะมีประเด็นเชิงลบกดดัน จึงต้องกลับมานั่งดูว่าแล้วโปรเจ็กต์อะไรที่ Must have หรือจำเป็นต้องมี และอะไรที่ควรจะเลื่อนออกไปก่อน

ยกตัวอย่างสิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ mtl Click หรือแอปพลิเคชั่นที่รวมทุกการบริการของบริษัทเอาไว้ ซึ่งกว่าจะออกมาได้ กระบวนการภายในที่ต้องลงทุนพัฒนาระบบตลอดเวลา ไม่ทำไม่ได้ ในขณะเดียวกันกฎเกณฑ์หรือกฎหมายใหม่ๆ ที่ต้องจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน เช่น มาตรฐานบัญชีใหม่(IFRS17) ซึ่งเมืองไทยประกันชีวิตตีความว่าเป็นเรื่อง Global Standard และมีความชัดเจนหลายอย่างต้องปรับแต่งให้เข้ากับความเป็นจริงในประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางสมาคมประกันชีวิตไทยได้พูดคุยกับสภาวิชาชีพบัญชีและสำนักงาน คปภ.ไปแล้ว

หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA) ถึงแม้จะถูกเลื่อนใช้ออกไป แต่ปัจจุบันได้เริ่มบังคับใช้กับข้อมูลของบริษัทแล้ว เพื่อจะได้ทดสอบและปรับแต่ง เพื่อรู้ว่ามีช่องโหว่อะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้เม็ดเงินทั้งนั้นในการลงทุน เพราะฉะนั้นการลำดับความสำคัญ รวมไปถึงต้องปรับปรุงแก้ไขจากข้อร้องเรียนผ่านหน่วยงานกำกับฯ หรือโปรเจ็กต์ที่จำเป็นต้องมี โดยประเมินตอนจบผลจะเป็นอย่างไร และความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดได้

นอกจากนี้สิ่งที่ผมต้องทำเยอะมากคือ การสื่อสารกับคนเมืองไทยประกันชีวิตเอง สื่อสารจนบางทีก็เบื่อตัวผมเอง แต่ไม่ได้เบื่อพวกเขานะ แต่เข้าใจเพราะเป็นเรื่องที่ดีลกับคน และการสื่อสารให้ความคิด (mindset) และต้องการให้เขามีความท้าทายใหม่ๆ หรือ Up-skill, Re-skill ซึ่งพูดตรงๆ ว่าจะมีข้อจำกัดของกลุ่มคนที่ไปได้และไปไม่ได้ จึงยังไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะเดียวกันจึงจำเป็นต้องดึงคนที่เชี่ยวชาญเรื่องใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพด้วย เพราะอย่าลืมว่าในแต่ละองค์กรคงไม่มีองค์กรไหนมีคนครบเครื่องอยู่แล้ว ซึ่งคือความเป็นจริง

“เพราะฉะนั้นผมจะมองภาพการบริหารความเสี่ยงเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ใช่ Conservative เพียงแต่มี Risk Culture เพื่อปิดกั้นวิกฤตที่จะเข้ามาได้และหาโอกาสด้วย” นายสาระ กล่าว