กระทรวงสาธารณสุขระดมแพทย์จบใหม่ 4 สาขา จำนวน 144 คน ประจำการพื้นที่ระบาดหนัก กทม.-ปริมณฑล เร่งควบคุมสถานการณ์เดือนกรกฎาคม
วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ข่าวสด รายงานว่า ในที่ประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติงานของอายุรแพทย์ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤตสนับสนุนภารกิจโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีอายุรแพทย์ 4 สาขาจบใหม่เข้าร่วม พร้อมกับ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ และ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
นพ.สุระยอมรับว่า ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิดทะลุ 5,000 ราย เสียชีวิตวันละกว่า 50 ราย ขณะที่เตียงไอซียูมีไม่เพียงพอ ต้องขยายเตียงไอซียู และต้องการบุคลากรแพทย์ พยาบาล มาปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล
จึงได้เชิญแพทย์เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤต ที่เพิ่งจบจำนวน 144 คน มาอบรมในวันนี้ เพื่อชี้แจงว่าต้องส่งไปทำงานในจุดที่มีการระบาดมากขึ้น
นพ.สุระกล่าวว่า แพทย์ในสังกัดเขตสุขภาพที่ 4 , 5 ,6 และ 12 จะกลับไปพื้นที่ตนเอง เนื่องจาก 4 เขตดังกล่าวมีการติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 4 คือ นนทบุรี ปทุมธานี เขตสุขภาพที่ 5 นครปฐม สมุทรสาคร เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี สมุทรปราการ เขตสุขภาพที่ 12 คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา
ส่วนแพทย์ที่มาจากเขตสุขภาพอื่นที่เหลือ 69 คน จะส่งตัวไปปฏิบัติงานยังห้องไอซียู 4 แห่ง ที่จะเปิดเพิ่ม ได้แก่ 1.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ 2.รพ.รามาธิบดี 3.รพ.วชิรพยาบาล และ 4.รพ.พลังแผ่นดินของ รพ.มงกุฎวัฒนะ และหากเหลือจากนี้จะส่งไปช่วย รพ.บุษราคัมเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะให้ปฏิบัติภารกิจประมาณ 1 เดือน คือกรกฎาคมก่อน พร้อมประเมินสถานการณ์ว่าต้องอยู่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ต่อหรือไม่
“วันนี้วันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำงาน กระทรวงสาธารณสุขต้องขอแรงความร่วมมือแพทย์ทั้ง 4 สาขา ช่วยปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน ถือเป็นการรวมพลอัศวินเสื้อกาวน์มือดีของกระทรวงมาช่วยปฏิบัติงาน ซึ่งวันนี้ในการประชุมได้มีการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะเราไม่อยากบังคับให้ทำงาน อยากให้ทำด้วยความสมัครใจ และเห็นปัญหาร่วมกับเราว่าตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต ถ้าเราไม่ช่วยเหลือคนไข้ การระบาดก็จะกลับไปต่างจังหวัด ถ้าเราคุม กทม.ไม่ได้” นพ.สุระกล่าว
สำหรับการส่งมาปฏิบัติงานนั้น ได้ออกเป็นหนังสือส่งตัวไปปฏิบัติราชการที่ รพ.พระนั่งเกล้า เพื่อไม่ให้แพทย์ต้องเสียสิทธิรับค่าตอบแทนต่าง ๆ โดยสามารถเบิกค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก จาก รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งจะมีการจัดระบบมาดูแล ส่วนค่าเวรจะรับจากหน่วยงานปลายทางที่ไปปฏิบัติ ซึ่งจะต้องได้มากกว่าหรือเท่ากับที่กระทรวงสาธารณสุขให้ โดยการปฏิบัติงานจะขึ้นเวรเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 1 สัปดาห์พัก 2 วัน อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นอาจขอให้ช่วยขึ้นผลัดนอกเวลาราชการ
ด้าน นพ.ธงชัยกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและสะอื้นเล็กน้อยตอนหนึ่งว่า ต้องขอโทษและขอบคุณแพทย์ที่มาช่วยกันวันนี้ ต้องเรียนว่า กทม.และปริมณฑลสีแดงวิกฤตจริง ๆ มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยคงไม่อยากเหมือนยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ที่ไม่มีการขยายเตียง ให้ผู้ป่วยไปนอนที่บ้าน วันนี้ประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น ขอให้ทำงานยึดตามพระบิดา ฝากดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด
“ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายคนคิดว่าทำไมต้องเป็นตัวเอง แต่ต้องขอความร่วมมือจริง ๆ ซึ่งคณบดีแพทย์ต่าง ๆ ก็เห็นว่าคุ้นเคยกับการเรียนที่ กทม. และเป็นมือดีที่สุด ซึ่งปีนี้ยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ที่เราคุมยาก กระจายไปทั่วหมด วันนี้เอาไม่อยู่จริง ๆ เลยต้องเกณฑ์พวกเรา ต้องขอบคุณจริง ๆ และพร้อมขอโทษด้วย” นพ.ธงชัยกล่าว
ก่อนหน้าเราระดมอาสาสมัครไปทำ รพ.บุษราคัม ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองขนาด 2 พันเตียง จะขยาย 1.5 พันเตียงเป็น 3.5 พันเตียง ถือเป็นประวัติศาสตร์ของพวกเรา ชั่วชีวิตนี้เราไม่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ตอนนี้กำลังผ่านสงครามโรคที่ทั่วโลกกำลังสู้อยู่ ใครก็หลุดพ้นไม่ได้ นพ.ธงชัยกล่าวและว่า
ทุกคนกำลังต่อสู้กันหมด น้อง ๆ เป็นกำลังสำคัญทั้งต่างจังหวัด และ กทม.ก็คือคนไทย เชื้อชาติไหนก็อยู่ในแผ่นดินไทยเช่นกัน ไม่ดูแลก็ไม่รอดเช่นกัน ทุกคนในแผ่นดินไทยต้องรอดหมด ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ ถือเป็นครั้งแรกที่ระดมทำกันอย่างนี้ ถ้าไม่ทำคงเจอคนนอนตายที่บ้าน และไม่มีที่ไป ประเทศไทยไม่ควรเป็นเช่นนั้น ที่จะต้องเลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป ไม่อยากเห็นภาพนั้น