กรุงเทพมหานคร ประกาศคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ฉบับที่ 37 เริ่ม 20 ก.ค.นี้

กทม.ประกาศปิดสถานที่
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

อัศวิน” ลงนามประกาศสั่งปิด ฉบับที่ 37 “ห้าง-ร้านสะดวกซื้อ” ปิด 2 ทุ่ม ถึง 2 ส.ค.นี้

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 37) ความว่า ด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564

โดยจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้นจากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด โดยการกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด–19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจำในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว

โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนใกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมาก แม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตามแต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็ว สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในเวลานี้ คือ ชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรค โดยต้องหยุดยั้งการกระทำใด ๆ ก็ตาม ที่เป็นความเสี่ยงหรือเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป

โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14 วัน

ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 22/2564 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1.ให้ปิดสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 และ (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม และตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยสำหรับการให้บริการตามข้อ 2 ถึงข้อ 6 ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว

2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา

4.โรงแรม ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนาหรือการจัดเลี้ยง

5.ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลา สำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น

6.โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้

สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์ และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่สร้าง จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายก๊าซหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ตลาดนัด (เฉพาะส่วนที่จำหน่ายอาหารและวัตถุดิบเพื่อการบริโภค)

สถานรับเลี้ยงเด็ก (เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเต็กในโรงพยาบาลและที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) สถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) ธุรกิจประกันภัย หน่วยบริการงานช่วยเหลือกู้ภัย ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมแซมยานพาหนะ ร้านแบตเตอรี่ หน่วยบริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะ รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัตโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30
วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ประกาศ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564