ประยุทธ์ กำเงินกู้ 5 แสนล้าน เตรียมออกมาตรการเยียวยารอบใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

ประยุทธ์ เผย เงินกู้ 1 ล้านล้าน ยังเหลืออีก 2 พันล้าน สั่งสำนักงบฯ สภาพัฒน์ เตรียมมาตรการทั้งเก่า-ใหม่พุ่งเป้าบางกลุ่มกิจการ ปลื้ม ! ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ได้ผลดี

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เวลา 22.14 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่าน นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ข้าราชการ พลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สัมภาษณ์ผ่านคลิปวิดีโอ ของ เพจไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ยาว 36 นาที

ตอนหนึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า  รัฐบาลมีหน้าที่หลายประการ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง ด้านสาธารณสุข โดยในช่วงเช้าของวันที่ 29 กรกฎาคม ได้หารือกับคณะเศรษฐกิจ พิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ภูมิภาค เศรษฐกิจประเทศรอบบ้านของเราในทุกมิติ ว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร แก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างไร เพราะขณะนี้เรามีสถิติการส่งออกเพิ่มมากขึ้นในหลายกิจการ เราหารือว่าจะทำอย่างไรให้เข้มแข็งขึ้น

ตนได้คุยกับสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า เราเห็นใจประชาชน ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า เพราะเป็นสถานการณ์โควิด-19   ได้สอบถามว่างบประมาณยังมีเพียงพออยู่หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ายังมีพออยู่ ใช้งบประมาณก้อนแรกไปแล้ว 1 ล้านล้าน ยังเหลือ 2 พันกว่าล้าน

“ส่วนงบประมาณที่ขอกู้ใหม่ 5 แสนล้าน เรายังไม่ได้ใช้อะไร ผมบอกว่าต้องเตรียมมาตรการให้พร้อม ทั้งมาตรการเดิม ๆ ที่มีอยู่ และมาตรการใหม่ที่พุ่งเป้าลงไปในบางกิจการหรือบางกลุ่มเป็นพิเศษให้ทั่วถึง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า และยังติดตามมาตรการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ค่อนข้างมีผลดีในเรื่องการท่องเที่ยว และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการเปิดไปแล้ว สถานการณ์ยังคงดีอยู่ ต้องหารือว่าทำอย่างไรให้ขยายออกไปมากขึ้น ประเด็นสำคัญคือต้องมีการฉีดวัคซีน มีมาตรการรองรับ ตรวจสอบ คัดกรองต่างๆ  จากผลการตรวจสอบการติดเชื้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะดูว่าทำอย่างไรให้ได้ง่ายกว่านี้อีก เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก แต่ต้องปลอดภัยสำหรับคนไทยและคนต่างประเทศที่จะเข้ามา ยังต้องหารือกันต่อไป

เรื่องความต้องการของวัคซีนที่ให้เพิ่มเติมด้วยความร่วมมือจากนักธุรกิจ เจ้าของธุรกิจ

แรงงานต่างๆ ซึ่งได้ให้ไปแล้วในผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39  มาตรา 40 สิ่งที่เป็นห่วงตรงนี้คือทำอย่างไรไม่ให้ภาคการผลิตเสียหาย วันนี้หลายโรงงานได้ร่วมมือจัดโรงพยาบาลสนามข้างในโรงงานของเขาเอง บางโรงงานมีไม่ได้ ต้องไปแก้ปัญหาให้เขาว่าจะทำอย่างไร