แบงก์ชี้ฟันด์โฟลว์เหวี่ยงแรง กดดันบาทผันผวน 32.85 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาท

แบงก์ประเมินค่าเงินบาทในกรอบ 32.50-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ติดตามตัวเลขค้าปลีก-เงินเฟ้อ สหรัฐฯ-เศรษฐกิจรายเดือนจีน กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าได้ ชี้เห็นกระแสฟันด์โฟลว์เหวี่ยงตัวสูง

วันที่ 12 กันยายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 13-17 กันยายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.50-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ตลาดให้ความสนใจในสัปดาห์หน้าจะเป็นเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจสถานการณ์

โดยดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในส่วของยอดค้าปลีก และดีชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หากตัวเลขออกมาค่อนข้างดี จะเห็นตลาดเปิดรับความเสี่ยงได้ ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้ แต่การอ่อนค่าจะไม่มากนัก

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของประเทศจีน ซึ่งอาจมีผลกระทบมายังเงินบาทได้ หากตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนออกมาดี อาจทำให้สกุลเงินหยวนแข็งค่าได้

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนยังคงติดตามการระบาดโควิด-19 ในไทย ทำให้สัญญาณเงินไหลเข้ายังไม่ชัดเจนนัก โดยตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 4,000 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิ 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายบอนด์ระยะสั้น เพื่อเก็งกำไร

“สัปดาห์หน้าปัจจัยติดตามยังเป็นเรื่องเดิมๆ เนื่องจากภายหลังการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ออกมาไม่ได้เซอร์ไพร์สตลาด ไม่มีการส่งสัญญาณชัดเจนเรื่องการลดการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE ทำให้โทนตลาดไปที่การฟื้นตัวของสหรัฐฯ เพราะคนเริ่มไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวชัดเจน ส่วนไทนก็รอดูการระบาดของโควิดหลังจากคลายล็อกดาวน์ ทำให้จะเห็นบาทโอกาสไปแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์คงจะยาก เพราะบอนด์ก็มีการขายเพื่อ take profit กันไปแล้ว”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 32.50-32.85 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) และการคาดการณ์นโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อไป

ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน โดยทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเหวี่ยงตัวสูง ส่งผลให้ทิศทางค่าเงินผันผวนได้