ลงทุน EEC ใกล้ทะลุเป้า 1.7 ล้านล้าน จ่อให้สิทธิประโยชน์ใหม่ไม่ซ้ำซ้อน BOI

EEC
แฟ้มภาพ

“สุพัฒนพงษ์” ไฟเขียวแผนงาน 5 ปี ใน EEC ตั้งเป้าเงินลงทุนแตะ 2.5 ล้านล้านบาท “คณิศ” เผย 4 ปีผลงานเกินเป้า คาดปี’64 เงินลงทุนทะลุ 1.7 ล้านล้านบาทเร็วกว่าเป้า 1 ปี เตรียมด้านมาตรการให้สิทธิประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ. EEC ใน 3 เขตส่งเสริมพิเศษ เมืองการบิน EECi และ EECd ย้ำไม่ซ้ำซ้อน BOI

วันที่ 13 กันยายน 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 5/2564 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1.ในช่วง 3 ปี อีอีซีเดินหน้าลงทุนเป็นรูปธรรม สร้างเงินลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่เกิด พ.ร.บ.อีอีซี ปี 2561 – มิ.ย. 2564 หรือคิดเป็น 94% จากเป้าหมายแผน 5 ปี (2561-65) ของอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาท เร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลัก (รถไฟ/สนามบิน/ 2 ท่าเรืออุตสาหกรรม) มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนจากภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (ร้อยละ 61) จากภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (39%) การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จากการออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ) มูลค่า 878,881 ล้านบาท (โครงการที่ขอยื่นส่งเสริมลงทุน ช่วงปี 2560 – มิ.ย. 2564 ลงทุนจริงแล้วกว่า 85%) การลงทุนผ่านงบฯบูรณาการอีอีซี มูลค่า 82,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนช่วง 6 เดือนที่ผ่าน (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีการขอรับส่งเสริมลงทุน 232 โครงการ เงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% (จากช่วงเดียวกันปี’63) การอนุมัติส่งเสริมลงทุน 195 โครงการ เงินลงทุน 74,250 ล้านบาท และออกบัตรส่งเสริม 187 โครงการ เงินลงทุน 88,083 ล้านบาท โดยจำนวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็น 64% ของคำขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลำดับ 

2.วางกรอบสิทธิประโยชน์ เน้นความต้องการผู้ประกอบการ จูงใจนักลงทุน ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ  ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด” และที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกพอ. จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากร

เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (Demand Driven Customization) เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 

3.เตรียมพัฒนาพื้นที่ EECd เป็นเมืองดิจิทัลแห่งภูมิภาค ดึงดูดการลงทุน สู่พื้นที่อีอีซี โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ ปี 2564 – 2565 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ การจัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการ (Conceptual Design) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และจัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์ 

รวมถึงตั้งเป้าหมายไตรมาส 4 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของโครงการ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน และออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในพื้นที่โครงการ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 

สำหรับการพัฒนาโครงการ EECd แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์บริการต่าง ๆ ระยะที่ 3 พัฒนาพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และระยะที่ 4 พัฒนาพื้นที่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ผสมผสานระบบนิเวศ เพื่อการอยู่อาศัยในโลกยุคใหม่ โดยตั้งเป้าให้ EECd เป็นเมืองดิจิทัลระดับโลกในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลแห่งอนาคต และเป็นเมืองอัจฉริยะโดยใช้หลักคิดการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้

4.ขับเคลื่อนแผนเกษตร โดยร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ. 2566 -2570) ที่ สกพอ.จัดทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะมีกรอบแนวคิด เน้นตลาดนำการผลิต (Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง

โดยเริ่มพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมี่ยม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่อีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซีเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบอ.ยังได้พิจารณาโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ดำเนินการ 4 เรื่องหลัก 1.สร้างสินค้าให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด มุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าทุเรียนพรีเมี่ยม 2.วางระบบการค้าสมัยใหม่ผ่านระบบ e-Commerce และ e-Auction สร้างมูลค่าให้ทุเรียนของภาคตะวันออก 3.จัดทำห้องเย็นเทคโนโลยีทันสมัยเก็บรักษาความสดใหม่ โดย สกพอ.เร่งดำเนินการให้ทันช่วงฤดูทุเรียนปี 2565 และ 4.จัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ที่เข้าร่วม ให้พัฒนาคุณภาพผลผลิตในระดับพรีเมีjยม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพ ทำให้เกษตรกร ชุมชน คนรุ่นใหม่มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน 

โดยผลการประชุมวันนี้จะเสนอเข้าบอร์ด ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในต้นเดือน ต.ค. 2564 เพื่อพิจารณาเห็นชอบในแผนงานดักล่าวต่อไป