ดอลลาร์ฯทยอยแข็งค่า นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

dollar
REUTERS/Mohamed Azakir

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทยอยแข็งค่า นักลงทุนจับตาดูการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าตามแรงซื้อของผู้นำเข้า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 กันยายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/9) ที่ระดับ 32.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/9) ที่ระดับ 32.89/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.5% ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าลดลง 0.3% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค.

การปรับตัวลงของดัชนีราคานำเข้าในเดือนส.ค.ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 9.0% ในเดือนส.ค. หลังจากดีดตัวขึ้น 10.3% ในเดือน ก.ค. ส่วนดัชนีราคานำเข้าพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ลดลง 0.2% ในเดือน ส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ก.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 หลังจากพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือน ก.ค.เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 16.8% หลังจากพุ่งขึ้น 17.0% ในเดือน ก.ค.

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้นสู่ระดับ 34.3 ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.0 จากระดับ 18.3 ในเดือน ส.ค. ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน รวมทั้งความเชื่อมั่นของบริษัทในภาคการผลิต

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.86-33.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะอ่อนค่าตามแรงซื้อของผู้นำเข้า และปิดตลาดที่ระดับ 33.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (16/9) ที่ระดับ 1.1820/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่อนข้างทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/9) ที่ระดับ 1.1824/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังแกว่งตัวในกรอบแคบใกล้ระดับ 1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังขาดปัจจัยใหม่รวมถึงไม่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตัดสินใจที่จะลดวงเงินการซื้อพันธบัตรลงในเร็ว ๆ นี้ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าลง ทั้งนี้นักลงทุนจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อ ที่จะประกาศในวันศุกร์ (17/9) นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1767-1.1821 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1770/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/9) ที่ระดับ 109.36/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (15/9) ที่ระดับ 109.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนที่ผ่านมา ตามการทรงตัวของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือน ส.ค.ปรับตัวขึ้น 26.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค.ที่พุ่งขึ้น 37% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 34%

ส่วนยอดนำเข้าเดือน ส.ค.พุ่งขึ้น 44.7% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวขึ้น 28.5% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 40% ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือน ส.ค.ที่ระดับ 6.354 แสนล้านเยน (5.81 พันล้านดอลลาร์) น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งอยู่ที่ 4.77 หมื่นล้านดอลลาร์

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.21-109.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตสหรัฐเดือนกันยายนจากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของยูโรโซน (17/9), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนกันยายนของสหรัฐ (17/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.35/+0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.40/+3.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ