กรุงไทย ชี้ 15 วันแห่เทขายบอนด์ 2.3 หมื่นล้าน ทำบาทอ่อนค่า 33.50 บาท

กรุงไทย เงินบาท

แบงก์ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาการประชุมเฟด-บีโออีส่งสัญญาณลด QE เผยราคาทองคำร่วง นักลงทุนแห่ลงทุน กดดันสกุลดอลลาร์แข็งค่า ด้าน “กรุงไทย” ชี้ กระแสฟันด์โฟลว์หมดช่วงเก็งกำไร หลัง 15 วันแห่ขายบอนด์ทำกำไร 2.37 หมื่นล้านบาท พร้อมติดตามสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในจีนขาดสภาพคล่อง

วันที่ 19 กันยายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 20-24 กันยายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หากมีการส่งสัญญาชัดเจนเรื่องการปรับลดวงเงิการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายมาตรการเชิงปริมาณ (QE) จะมีผลให้ดอลลาร์แข็งค่าได้ รวมถึงการส่งสัญญาณในการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี)

นอกจากนี้ปัจจัยต้องจับตาเพิ่มเติม จะเป็นราคาทองคำที่ปรับลดลง ส่งผลให้นักลงทุนแลกเงินบาทและซื้อดอลลาร์ เพื่อนำไปลงทุนในทองคำ หากราคาทองคำเหวี่ยงแรงหรือปรับลดลงในระดับ 1,700-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ประกอบกับบีโออีส่งสัญญาณชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าได้

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟล์ว) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-17 ก.ย.64) พบว่าตลาดพันธบัตร (บอนด์) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2.68 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 860 ล้านบาท โดยรวมในช่วง 15 วันในเดือนกันยายนพบว่าบอนด์ถูกขายแล้วกว่า 2.37 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี สัญญาณนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดบอนด์สัปดาหหน้าคงหมดแล้ว แต่หากค่าเงินบาทไปแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ และสถานการณ์โควิด-19 ไม่น่ากลัว อาจเห็นนักลงทุนเข้ามาเล่นในตลาดบอนด์อีกรอบ

“เราต้องรอดูสัญญาณเฟดว่าจะไปแนวทางไหนมหากแบ่งรับแบ่งสู้ อาจเห็นดอลลาร์อ่อนค่าได้ แต่หากส่งสัญญาณบ้าง ดอลลาร์จะแข็งค่าได้ อย่างไรก็ดีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่านักลงทุนเข้ามาซื้อบอนด์ตัวสั้นค่อนข้างเยอะเกือบ 2 หมื่นล้านบาท และตัวยาวขายออกประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากกระแสข่าวเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะ แต่คิดว่าสัปดาห์การเก็งกำไรน่าจะน้อยลง”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.00-33.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยรอสัญญาณจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ เพื่อประเมินจังหวะเวลาเริ่มลดการเข้าซื้อพีนธบัตร (QE ) ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะเริ่มลดเดือน พ.ย.หรือธ.ค. 64 อย่างไรก็ดี หากถ้ามีการลด QE เร็วกว่าตลาดคาดการณ์ จะทำให้ดอลลาร์ยิ่งแข็งค่า

ขณะเดียวกัน ติดตามการประชุมธนาคารกลางสำคัญแห่งอื่น ได้แก่ วันที่ 21-22 ก.ย.นี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และวันที่ 22-23 ก.ย.นี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) สำหรับประเด็นติดตามอื่นๆ จะเป็นสถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ “เอเวอร์แกรนด์” ยักษ์ใหญ่ของจีนที่ขาดสภาพคล่อง และตัวเลขส่งออกนำเข้าเดือนส.ค.ของไทย รวมถึงกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย

“สำหรับประเด็นสถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนจะต้องดูว่าลุกลามภาคการเงินหรือไม่ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะเข้าดูแลไม่ให้ลุกลาม”