ตลท.เปิดเฮียริ่งปรับคำนวณเกณฑ์ดัชนี ถอด”ฟรีโฟลตต่ำ-ติดแคชบาลานซ์”

ตลาดหลักทรัพย์-เล่นหุ้น

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ” เปิดรับฟังความเห็น ปรับปรุงเกณฑ์คำนวณดัชนีหุ้นไทย ตั้งแต่ 20 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ เล็งถอดการพิจารณา “หุ้นฟรีโฟลตต่ำ-ติดมาตรการกำกับซื้อขายทุกระดับ” พ้นดัชนี ลดความผันผวน-สะท้อนสภาพการณ์ คาดบังคับใช้ ธ.ค.64

 

วันที่ 21 กันยายน 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รายงานว่า ตลท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ(SET Index) เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-1 ต.ค.2564 เพื่อให้สะท้อนสภาพการณ์ลงทุนในช่วงต่างๆ ของตลาดทุนไทย และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่หลากหลาย โดยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Performance Benchmark) หรือใช้เป็นดัชนีอ้างอิง (Underlying Index) ในการออกตราสารทางการเงินต่าง ๆ เช่น ตราสารอนุพันธ์กองทุนรวม, กองทุนรวมอีทีเอฟ เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาได้มีการทบทวนและพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด เพื่อให้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในตลาดทุนสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ดัชนี รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมาดัชนีของตลาดหลักทรัพย์สามารถสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ได้ แต่อาจยังมีข้อจำกัดในการสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ของหลักทรัพย์ (Investable) ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี

ในปัจจุบันเกณฑ์การคัดเลือกดัชนีของ SET Index Series ที่เป็น Tradable & Thematic Index ทั้งหมด จะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ประกอบด้วยทั้งเกณฑ์ด้านปริมาณ (Quantitative) ได้แก่ Market Capitalization, Value Trade, Turnover ratio, Free Float เป็นต้น และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Quantitative) เช่น ไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน ไม่ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรือมีปัญหาด้านงบการเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีเหล่านี้อาจมีความผันผวนค่อนข้างสูงและอาจไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ (Investable) ได้ดี ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จึงได้ศึกษาแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้สะท้อนความสามารถในการลงทุนของหลักทรัพย์ได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free float) ต่ำ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทั้งที่เป็นเกณฑ์เชิงปริมาณ(Quantitative) และเกณฑ์เชิงคุณภาพ (Qualitative) และเห็นควรเสนอแนวทางปรับปรุงโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ปรับเกณฑ์สภาพคล่องการคัดเลือกหุ้นในดัชนี Tradable Index

หลักการและเหตุผล

การคัดเลือกหุ้นเพื่อให้เป็นองค์ประกอบของดัชนี Tradable Index เกณฑ์ด้านสภาพคล่องควรสะท้อนมูลค่าการซื้อขายที่เป็นอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปตามสภาพปกติเท่านั้น เพื่อให้เป็น investable universe ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้จริง

แนวทางการดำเนินการ

เพิ่มเกณฑ์คุณภาพในการพิจารณาสภาพคล่องที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้น ตามหลักการดังนี้

  • นำข้อมูลหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งหมายถึงหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์(Market Surveillance measure list) มาประกอบการพิจารณา(รายชื่อหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยและกำหนดให้สมาชิกต้องให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (cash balance) ผ่าน SET website)
  • การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนี Tradable Index ตามรอบการคัดเลือกจะไม่พิจารณาปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ช่วงเดือนที่เข้ามาตรการดังกล่าวตั้งแต่ Level 1 ขึ้นไป(แคชบาลานซ์)

แผนการดำเนินการ

ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อใช้ในรอบคัดเลือกรอบถัดไปในช่วงเดือนธันวาคม 2564

 

2.ปรับการคำนวณดัชนีเป็น Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted

หลักการและเหตุผล

การให้น้ำหนักของหุ้นในดัชนีควรสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชั้นนำในต่างประเทศ

แนวทางในการดำเนินการ

  • ปรับวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization) สำหรับทุกดัชนี
  • ในการดำเนินการปรับปรุงด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Capitalization นี้ อาจต้องมีกระบวนการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
    • ศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของนิยาม Strategic partner เพื่อให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) สามารถนำมาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณเพื่อให้น้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีมีความเหมาะสมและสะท้อนความสามารถในการลงทุนได้ (Investable) ของหุ้นได้ดียิ่งขึ้น
    • ศึกษาแนวทางการนำสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) มาใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในดัชนี
    • กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีเพื่อ rebalance หรือปรับสถานะจำนวนมาก(Index Turnover สูง) และอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่น

แผนการดำเนินการ

เนื่องจากการปรับวิธีการคำนวณด้วย Free Float Adjusted นั้น ยังมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ และรายละเอียดที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลสัดส่วนการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่นำมาใช้มีความเหมาะสมกับลักษณะของตลาดทุนไทย และเทียบเคียงกับแนวทางสากล และใช้ในการคำนวณน้ำหนักของดัชนีได้ดี ในส่วนนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะศึกษาและกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการและจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดต่อไป

 

ทั้งนี้สามารถให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทางลิงก์ https://forms.office.com/r/qvagPc1wYE หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ตราสารทุน สายงานการตลาด โทรศัพท์02-009-9574 หรือ Email:[email protected]