“เอเชียประกันภัย” คปภ.ส่งทีมคุมเข้ม “จ่ายเงิน-แผนจัดการค่าเคลมโควิด”

คปภ.ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่คุมเข้ม “เอเชียประกันภัย” ควบคุมจ่ายเงิน-บริหารจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด คุ้มครองสิทธิประชาชน

วันที่ 28 กันยายน 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ คปภ.ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 51/2564 เรื่อง ให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2564 โดยมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทเพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว

เลขาธิการ คปภ.ได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายตรวจสอบ บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยได้มอบหมายให้นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และ ดร.อายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบ นำคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อควบคุมและให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศนายทะเบียนกำหนด ซึ่งการเข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ซึ่งกำหนดให้ในกรณีที่บริษัทถูกสั่งหยุดรับประกันภัยวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ หรือเป็นการจ่ายเงินตามที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ประกาศนายทะเบียนดังกล่าวได้กำหนดการจ่ายเงินโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนหรือ
ผู้ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน ในกรณีดังนี้

  1. การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ฯลฯ
  2. การจ่ายเงินคืนค่าเบี้ยประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัย
  3. การจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
  4. การจ่ายค่าสื่อสาร เช่น ค่าไปรษณีย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
  5. การจ่ายค่าภาษี ค่าอากร หรือค่าภาษีอากร ตามที่กฎหมายกำหนด
  6. การจ่ายเงินตามคำสั่งศาล เช่น ค่าสินไหมทดแทน ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เป็นต้น
  7. การจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินจ่ายหรือเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด
  8. การจ่ายเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นเพื่อเร่งรัดติดตามหรือเรียกคืนหนี้สินค้างจ่ายของบริษัท

โดยการเบิกจ่ายเงินในกรณีที่จำเป็นนอกเหนือจากนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน โดยมีเหตุผลความจำเป็นพร้อมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่าย โดยให้บริษัทแยกประเภทตามแบบกรมธรรม์และพิจารณาจากลำดับการยื่นเรื่องเข้ามา หากพบว่ารายใดมีเอกสารครบถ้วนก็จะเร่งดำเนินการอนุมัติการจ่ายและแจ้งให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว

เบื้องต้นเคลมที่ใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารไม่มากจะเป็นประเภท เจอ จ่าย จบ ส่วนเรื่องที่เอกสารไม่ครบถ้วนจะเร่งให้บริษัทประสานผู้เอาประกันภัยเพื่อนำส่งเอกสารเพิ่มเติมโดยเร็ว

“การออกประกาศนายทะเบียนดังกล่าว เป็นการรองรับและมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก


ดังนั้น ทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่จะมีการบริหารจัดการเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล คปภ.จะดำเนินการในทุกมาตรการอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ และขอให้มั่นใจในระบบประกันภัยว่าสามารถเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้ในทุกสถานการณ์  และทุกมิติของความเสี่ยงภัย แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ก็ตาม ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th