“คน” คือคำตอบขององค์กร

ทำงาน
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

สาโรจน์ มณีรัตน์

ทุกครั้งที่มีโอกาสสัมภาษณ์นักธุรกิจ คำถามหนึ่งที่ผมชอบถามประจำคือ…อะไรเป็นสิ่งยากที่สุดในการบริหาร ?

ส่วนใหญ่จะตอบเรื่อง “คน” ทั้งสิ้น

ถามว่าทำไมการบริหารคนถึงยาก ?

คำตอบมีหลายทิศหลายทางด้วยกัน แต่ที่แน่ ๆ ทุกคนยอมรับว่าการสร้างแบรนด์ การพัฒนาโปรดักต์ หรือผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ การตลาด การขนส่ง หุ้นส่วน และคู่ค้า ต่างใช้ “คน” เป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าหากองค์กรหนึ่งองค์กรใดมีคนที่มีศักยภาพ มีทัศนคติที่ดี และมีใจเปิดกว้างต่อการรับรู้รับฟัง และพร้อมจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ องค์กรนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จโดยไม่ยาก ตรงข้ามหากองค์กรใดไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ ความล้มเหลวจะมาเยือนโดยไม่ยากเช่นกัน

ผลเช่นนี้จึงทำให้หลายองค์กรในปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญต่อเรื่องการสร้าง “คน” และพัฒนา “คน” อย่างมาก

“ลี เซียนลุง” อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ เขียนไว้ในหนังสือจดหมายจากผู้นำ ซึ่งมี “เฮนรี โอ. ดอร์มานน์” เป็นผู้เขียน และมี “นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี” เป็นผู้แปล บอกว่า…ตอนที่ผมสร้างประเทศเริ่มต้นจากศูนย์ และคนรุ่นผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตขณะที่เราโตขึ้น เรารู้ว่าความก้าวหน้าของเราเกิดขึ้นจากเจตจำนง และเราไม่อาจนอนใจได้ว่าความก้าวหน้านี้จะดำเนินต่อไปได้เอง

“เยาวชนสิงคโปร์ทุกวันนี้เติบโตมาพร้อมโอกาสและสิ่งดีงามนานัปการที่คนรุ่นปู่ รุ่นพ่อลงแรงไว้ให้ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะได้มาเปล่า ๆ พวกเขาเห็นวิกฤตในเอเชีย ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนแรง และการแพร่ระบาดของไวรัส พวกเขาประสบพบสิ่งท้าทายที่น่าครั่นคร้ามของการแข่งขันทั่วโลก เช่นเดียวกับความรุ่งเรืองของเอเชีย”

“ดังนั้น จึงยากที่จะบอกว่าสิงคโปร์ในวันพรุ่งนี้เป็นอย่างไร อนาคตคือสิ่งที่เยาวชนสิงคโปร์ทั้งหลายต้องก่อร่างสร้างขึ้น แต่เป็นเรื่องง่ายที่จะบอกว่าเราต้องการสิ่งใดจากเมืองใหญ่ที่หลอมรวมคนหลากชาติหลายภาษา ฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายของเราคือการตระหนักรับรู้ถึงความปรารถนาเหล่านี้ เพราะคนแต่ละรุ่นต้องแก้ปัญหาของตนเอง”

“พร้อมกับต้องเตรียมคนรุ่นต่อไปให้พร้อมกับการแก้ปัญหาของตน เพราะคนแต่ละรุ่นควรพัฒนาประเทศของตนและโลกใบนี้ให้ดีขึ้นก่อนจากไป นี่คือเป้าหมายของผม”

อันไปสอดคล้องและสอดรับกับความคิดของ “เจมส์ เอส. เทอรีย์” ผู้บริหารของเอิร์นสต์แอนด์ยัง ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่เชื่อว่า…ความซื่อสัตย์ ความเคารพ และการทำงานเป็นทีม เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการบริหารองค์กร

“ความซื่อสัตย์คือรากฐานรองรับสิ่งอื่นทั้งหมดที่จะสร้างสานขึ้น หากปราศจากรากฐานแห่งความซื่อสัตย์ที่มั่นคง ความสำเร็จใด ๆ ย่อมพังครืนในที่สุด ความเคารพผู้อื่นก็สำคัญ ทั้งคนที่คิดเหมือนเรา หรือคิดไม่เหมือนเรา คนที่ดูละม้ายคล้ายกัน หรือไม่เหมือนเลย คนที่มีลักษณะส่วนตัวบางอย่างเหมือนเรา เช่น เพศ เชื้อชาติ สัญชาติ หรือรสนิยมทางเพศ หรือไม่มีอะไรเหมือนเลย คุณไม่มีทางได้รับความเคารพจากผู้อื่น เว้นแต่เขาจะรู้สึกว่าเขาได้รับความเคารพจากคุณก่อน”

“ส่วนความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานเป็นทีมคือ แก่น ไม่มีใครประสบความสำเร็จยาวนานด้วยตัวเองได้ แท้จริงแล้วผู้ประสบความสำเร็จทุกคนที่ผมพบ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจ นักวิชาการ นักการเมือง อาสาสมัคร พ่อแม่ ผู้ประกอบการ ล้วนตระหนักดีว่าความสำเร็จคือผลผลิตของการทำงานเป็นทีม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน”

“แต่สิ่งที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายคือ ทัศนคติส่วนตัว เพราะทุกคนมีทักษะต่างกัน ฝึกฝนมาต่างกัน มีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน แต่ทัศนคติสำคัญกว่าการเรียนรู้ได้เร็ว ผมจึงเชื่อว่าทัศนคติที่ถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ความเคารพ และการทำงานเป็นทีมจะนำคุณก้าวไปไกลแสนไกล”

โดยเฉพาะทัศนคติ “ลี กาชิง” อภิมหาเศรษฐีแห่งเอเชีย ชาวฮ่องกงก็เคยบอกว่า…ความยุติธรรมและการมีจิตยุติธรรมคือทัศนคติที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สำหรับความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจชีวิต

ฉะนั้น จะเห็นว่าในองค์ประกอบของการบริหาร รวมถึงองค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ซ่อนอยู่ในกลเกมแห่งการบริหาร ต่างมีเรื่องทัศนคติเข้ามาเจือปนทั้งสิ้น เพราะทัศนคติมาจากคน และคนภายในทีมของตัวเองจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทัศนคติแห่งการยอมรับในบทบาทของผู้นำ ผู้ตาม รวมไปถึงบทบาทของธุรกิจหรือองค์กร ล้วนเริ่มต้นจากทัศนคติก่อนทั้งสิ้น

ผลเช่นนี้จึงทำให้บริษัทชั้นนำหลายแห่งใช้เครื่องมือบางอย่างเพื่อวัดทัศนคติของผู้มาสมัครงาน เพราะอยากรู้ว่าเขามีทัศนคติต่อองค์กรอย่างไร ?

ต่อเพื่อนร่วมงานอย่างไร ?

เพราะอย่างที่บอกองค์กรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ “คน” มีส่วนอย่างมาก และคนนี่เองที่จะเป็นคำตอบแรก ๆ ของทุกองค์กรเลยว่า…เราจะเลือกคนแบบใด ?

เพราะทุกองค์กรต่างมีวัฒนธรรมของตัวเอง

ดังนั้น ถ้าตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่แรก เราก็อาจได้คนผิดประเภทมาตั้งแต่แรกเช่นกัน

ต้องหมั่นฝึกเลือกคนบ่อย ๆ ครับ ?