ONEE เคาะช่วงราคาขายหุ้นไอพีโอ 7.50-8.50 บาท แผนใช้เงิน 4 พันล้าน

เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์(ONEE) เคาะช่วงราคาขายหุ้นไอพีโอ 7.50-8.50 บาท คาดสรุปราคาขายสุดท้าย 27 ต.ค.นี้ “บุคคลตามดุลยพินิจ” เปิดจองซื้อ 20-26 ต.ค.”นักลงทุนสถาบัน” 28-29 ต.ค.และ 1 พ.ย. กางแผนใช้เงินรวมเกือบ 4 พันล้านบาท คาดเข้าเทรดต้นเดือน พ.ย.64

ONEE ขายหุ้นไอพีโอ 496.52 ล้านหุ้น

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE เปิดเผยในงานแถลงข่าว IPO Press Conference & Retail Investors Roadshow ว่า ONEE จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET) หมวดธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ มีแผนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 496,252,500 หุ้น ประกอบด้วย

1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย ONEE ไม่เกิน 476,250,000 หุ้น และ

2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ไม่เกิน 20,002,500 หุ้น

รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.84% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 3,722-4,128 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ที่ 17,859.4-20,240.6 ล้านบาท

โดยแยกสัดส่วนการเสนอขายหุ้นทั้งหมดออกเป็น 1.บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประมาณ 108,500,000 หุ้น สัดส่วน 21.9% 2.นักลงทุนสถาบันและ/หรือนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ(Book Building) ประมาณ 297,752,500 หุ้น สัดส่วน 60%

3.ผู้อุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 36,500,000 หุ้น สัดส่วน 7.4% 4.บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทไม่เกิน 25,000,000 หุ้น สัดส่วน 5% และ 5.พนักงานของบริษัทประมาณไม่เกิน 28,500,000 หุ้น สัดส่วน 5.7%

เคาะช่วงราคาขาย 7.50-8.50 บาท สรุปราคาสุดท้าย 27 ต.ค.

ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้กำหนดราคาเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) ช่วงราคาที่ 7.50-8.50 บาทต่อหุ้น โดยต้องจองซื้อที่ราคา 8.50 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ช่วงราคาที่นำมาใช้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น(Book Building) จากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น(P/E Ratio) ที่ 20.5-23.2 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง(ตั้งแต่ 1 ก.ค.63-30 มิ.ย.64) อย่างไรก็ตามได้เทียบเคียงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์พบว่ามีจำนวน 2 บริษัทที่มีลักษณะประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน ซึ่งมีระดับ P/E อยู่ที่ 32.9-75.1 เท่า

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย(Final Price) โดยเร็วภายในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ผ่านเว็บไซต์ของช่องวัน และเว็บไซต์ของสำนักงานคุณกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกช่วงต้นเดือน พ.ย.64

โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้น ONEE สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์, ผู้มีอุปการคุณของบริษัท, บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท และพนักงานบริษัท ช่วงวันที่ 20-21 ต.ค.และวันที่ 25-26 ต.ค.64และสำหรับนักลงทุนสถาบัน และนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ (Book Building) ช่วงวันที่ 28-29 ต.ค.64 และวันที่ 1 พ.ย.64

 

ราคาต่ำจองคาดเดายาก ย้ำนักลงทุนดูปัจจัยพื้นฐาน

นายอนุวัฒน์ กล่าวย้ำถึงในสภาวะตลาดหุ้นไทยขณะนี้กับการคาดการณ์หากราคาหุ้น ONEE ปรับตัวต่ำกว่าราคาจองคงคาดเดายาก เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงกระทบต่อตลาดหุ้นไทยหรือไม่ ดังนั้นอยากให้นักลงทุนต้องมองโอกาสการเติบโตของ ONEE ในการสร้างรายได้ในอนาคต และมองที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

 

กางแผนใช้เงินระดมทุนรวม 4 พันล้านบาท

นายถกลเกรียติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการใช้เงินครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,443-3,908 ล้านบาท แยกออกเป็น 1.การลงทุนพัฒนาศักยภาพในการผลิตรายการและเพิ่มงบประมาณผลิตรายการ จำนวนเงินที่ใช้โดยประมาณ 500 ล้านบาท ภายในปี 2566

2.การลงทุนพัฒฯาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศ จำนวนเงินที่ใช้โดยประมาณ 130 ล้านบาท ภายในปี 2567

3.การปรับโครงสร้างเงินทุนโดยการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบัน จำนวนเงินที่ใช้โดยประมาณ 2,200 ล้านบาท ภายหลังที่บริษัทออกและเสนอขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทันที

4.เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ จำนวนเงินที่ใช้โดยประมาณ 613-1,078 ล้านบาท

เตรียมล้างขาดทุนสะสม

นายอรรณพ เสนะสุทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม ONEE กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทยังมีผลขาดทุนสะสมจำนวน 148.86 ล้านบาท(ในงบการเงินเฉพาะกิจการ) อย่างไรก็ตามบริษัทคาดผลขาดทุนสะสมจะสิ้นสุดไปภายในไตรมาส 4/64 จากแผนการจ่ายเงินปันผลของ ONE31 และ GMMCH และแผนการโอนทุนสำรองตามกฎหมายและส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญของบริษัทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก

โดยบริษัทมีแผนที่จะเรียกจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมายและส่วนเกินมูลค่าหุ้นเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมภายหลังขายหุ้นไอพีโอทันที หรือสามารถจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติเรื่องดังกล่าวภายในไตรมาส 4/64

 

ชูโมเดลธุรกิจ ยักษ์ผู้ผลิตคอนเทนต์

นายถกลเกรียติ กล่าวเพิ่มว่า ONEE ถือเป็นผู้นำในการผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพครบทุกช่องทาง ด้วยโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรและศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งประกอบธุรกิจด้านสื่อและความบันเทิงที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Vertically Integrated Service Provider) ตั้งแต่การเป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตรายการ (Content Creator) ไปจนถึงการเป็นเจ้าของช่องทางเผยแพร่ที่ครอบคลุมทั้งช่องทางออฟไลน์ (Offline) และออนไลน์ (Online)

ได้แก่ ช่องทางโทรทัศน์, ช่องทางวิทยุ, ช่องทางออนไลน์ที่กลุ่มบริษัทเป็นเจ้าของ, ช่องทางออนไลน์ซึ่งถูกบริหารจัดการโดยผู้ให้บริการอื่น และการบริหารลิขสิทธิ์โดยการนำรายการไปเผยแพร่ในต่างประเทศ

โดยกลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการเป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตรายการ (Content Creator) ที่สร้างประสบการณ์การรับชมที่มีคุณภาพและแตกต่างต่อผู้ชม โดยรายการที่กลุ่มบริษัทผลิตครอบคลุมทุกหมวดหมู่ ได้แก่ ละคร, ซิทคอม, วาไรตี้, ข่าว และครอบคลุมหลากหลายรสนิยมซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายและตอบสนองต่อรสนิยมที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้ชมได้เป็นอย่างดี

โดยรายการที่กลุ่มบริษัทผลิตสามารถสร้างกระแสในหมู่ผู้ชม และสร้างยอดการรับชม (View) ในช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้สามารถดึงดูดและสร้างฐานผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง โดยเสริมความแข็งแกร่งด้านการเป็นผู้สร้างสรรค์และผลิตรายการ (Content Creator) ผ่านการเข้าซื้อหุ้นของกลุ่ม GMMCH ในปี 2563 ซึ่งประกอบด้วย GMMTV, Change2561, GMM Media และ GMM Studios โดยแต่ละบริษัทเป็นผู้ผลิตรายการที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน และช่วยส่งเสริมให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น

5 ธุรกิจปั้นรายได้ ONEE

นายระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดกลุ่ม ONEE กล่าวว่า ธุรกิจของกลุ่มบริษัทแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจผลิตรายการ บริหารลิขสิทธิ์ และให้บริการช่องโทรทัศน์ โดยนำรายการที่ผลิตไปเผยแพร่ใน 2 ช่องทางหลักคือ 1.1.ช่องทางโทรทัศน์ เผยแพร่รายการที่ผลิตผ่านช่อง ONE31(กลุ่มบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่) และช่อง GMM25(กลุ่มบริษัททำหน้าที่เป็นตัวแทนการตลาด)

ปัจจุบันช่อง ONE31 มีอันดับเรตติ้งที่จัดทำโดย Nielsen เป็นอันดับ 4 ในไตรมาส 2/64 (เรตติ้งเฉลี่ยทั้งไตรมาส) และเรตติ้งช่วงไพรม์ไทม์(18.00-22.30 น.) ของช่อง ONE31 เติบโตเป็นอันดับ 3 โดยรายได้จากการบริการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 49.9% และคิดเป็น 55.2% ของรายได้ทั้งกลุ่มบริษัท สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และช่วงสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 (ตามลำดับ)

1.2.ช่องทางออนไลน์และช่องทางต่างประเทศ (Online และ International Sales) โดยให้สิทธิ์ในการเผยแพร่รายการที่กลุ่มบริษัทฯ ผลิตและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แก่ผู้ที่ต้องการนำรายการไปเผยแพร่ในช่องทางของตนเอง เช่น YouTube และ Facebook และช่องทางออนไลน์ซึ่งถูกบริหารจัดการโดยผู้ให้บริการรายอื่น โดยได้ดำเนินการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 ได้เผยแพร่รายการผ่านทางช่องทางออนไลน์ในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 8 ช่องทาง ซึ่งประกอบด้วย LINE TV, Disney+ hotstar, Netflix, WeTV, Viu, TRUE ID, AIS Play, และ IQIYI โดยมียอด Views สะสม และ Subscribers / Followers สะสมสูงสุดในช่องทาง YouTube ที่ 43,211 ล้าน Views และ 61.5 ล้าน Subscribers และสูงสุดในช่องทาง Facebook ที่ 39,682 ล้าน Views และ 54.3 ล้าน Followers (ข้อมูล 15 ก.ค.64) และสูงสุดในช่องทาง LineTV ที่ 11,800 ล้าน Views และ 6.2 ล้าน Followers (ข้อมูล 3 ส.ค.64) ซึ่งส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีฐานผู้ชมที่แข็งแรง

2.ธุรกิจรายการวิทยุ เผยแพร่ผ่านคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของกลุ่มบริษัททั้งหมด 3 รายการคือ 1.รายการวิทยุ EFM 94 เมกะเฮิรตซ์ 2.รายการวิทยุ GREENWAVE 106.5 เมกะเฮิรตซ์ และ 3.รายการ Chill Online ทั้งนี้รายการวิทยุ EFM และ GREENWAVE มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเป็นอับดับ 1 ในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาประเภทวิทยุในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลในช่วงปี 61-30 มิ.ย.64 อ้างอิงจากฐานข้อมูลที่จัดทำโดย Nielsen

นอกจากนี้ได้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจจากกลุ่มดีเจ สู่การเป็นผู้ผลิตรายการทอล์คโชว์ เช่น พุธทอล์คพุธโทร, ใต้โต๊ะทำงาน โดยรายได้จากธุรกิจผลิตรายการวิทยุ คิดเป็น 5.5% และคิดเป็น 3.3% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบริษัทสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และช่วงสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 (ตามลำดับ)

3.ธุรกิจรับจ้างผลิตและบริการ เป็นผู้ผลิต Netflix Original เรื่องแรกของประเทศไทยในปี 2562 และรับจ้างบริการจัดอีเวนต์ให้แก่ผู้ว่าจ้างต่างๆ โดยรายได้จากธุรกิจรับจ้างผลิตและบริการ คิดเป็น 11% และคิดเป็น 5.3% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบริษัทสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และช่วงสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 (ตามลำดับ)

4.ธุรกิจอีเวนต์ เช่น งานพบปะกับศิลปิน (Fan Meeting), งานคอนเสิร์ต และงานสัมมนากิจกรรมตามสถาบันการศึกษาต่างๆ คิดเป็น 1.2% และคิดเป็น 0.2% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบริษัทสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และช่วงสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 (ตามลำดับ)

5.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น เช่น ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน ธุรกิจขายสินค้ากับรายการหรือศิลปินของกลุ่มบริษัท และธุรกิจให้บริการเช่าสถานที่สำหรับการถ่ายทำงานและจัดอีเวนต์ โดยรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น คิดเป็น 8.2% และคิดเป็น 10.4% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบริษัทสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และช่วงสิ้นสุด 30 มิ.ย.64 (ตามลำดับ)

สำหรับรายได้ 6 เดือนแรกปีนี้ 2,782.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.78% เทียบจากช่วงเดี่ยวกันปีก่อน(ดูตาราง)

โดยเป้าหมายรายได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าช่องทางโทรทัศน์(TV) จะมีสัดส่วนที่ 40-45% จากเดิม 48% ช่องทางออนไลน์จะมีสัดส่วนที่ 25-28% จากเดิม 21% ช่องทางตลาดต่างประเทศ จะมีสัดส่วนที่ 7-10% จากเดิม 5% และช่องอื่นๆ จะมีสัดส่วนที่ 27% จากเดิม 12-25%

 

โครงสร้างการถือหุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทมีบริษัทย่อยทั้งหมดจำนวน 9 บริษัท และบริษัทร่วมจำนวน 1 บริษัท โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นดังนี้

โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทในปัจจุบัน และภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ภายใต้สมมติฐานว่ามีการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทและหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัททั้งจำนวน) สรุปได้ดังนี้