ไทยประกันชีวิตเอาจริง ! ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ขายหุ้นไอพีโอ 2,384 ล้านหุ้น

ไทยประกันชีวิต ธุรกิจครอบครัว “ไชยวรรณ” ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ขายหุ้นไอพีโอ ไม่เกิน 2,384 ล้านหุ้น คาดเข้าเทรดปี 2565 ในวาระครบรอบ 80 ปี “ไชย” ซีอีโอ กางผลดำนเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง รายได้ 1 แสนล้านบาท-กำไร 6-7 พันล้านบาท

ไทยประกันชีวิตจ่อขายไอพีโอ 2,384 ล้านหุ้น

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 นายไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Life Insurance เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,384.32 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 20.6% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน(Greenshoe) ไม่เกิน 322.54 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 13.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ แบ่งเป็น 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 1,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 8.6% 2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด จำนวน 1,218.82 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10.5% และ 3.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 165.50 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 1.4%

โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) กลุ่มธุรกิจการเงิน/ประกันภัยและประกันชีวิต ประมาณปี 2565 ซึ่งจะเป็นปีที่บริษัทดำเนินธุรกิจครบ 80 ปี และมีบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการทำไอพีโอ

“บริษัทได้ศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทำ IPO มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เป็นไปตามวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน เนื่องจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังสอดรับกับ Business Landscape ของธุรกิจประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อยกระดับการกำกับดูแลและบริหารจัดการองค์กรไปสู่ระดับสากล รวมถึงยกระดับแบรนด์ไทยประกันชีวิตให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ” นายไชยกล่าว

กางแผนใช้เงิน “ลงทุนดิจิทัล-ขยายตลาดพันธมิตร”

ทั้งนี้การระดมทุนดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการระดมทุนจะนำเงินไปใช้ 1.ลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) 2.การทำตลาดเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายทางพันธมิตร 3.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียน

นายไชยกล่าวอีกว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมาก โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR Ratio) สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 334% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดที่ 120% และบริษัทยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึง 82,184 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 ของธุรกิจประกันชีวิตไทย

3 ปีย้อนหลัง รายได้แสนล้าน-กำไร 6-7 พันล้าน

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) บริษัทมีรายได้รวม 100,851.67 ล้านบาท 108,388.70 ล้านบาท และ 107,642.26 ล้านบาท (ตามลำดับ) ขณะที่มีกำไรสุทธิย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 6,709.23 ล้านบาท 6,777.35 ล้านบาท และ 7,692.32 ล้านบาท (ตามลำดับ) ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี’61-63 ประมาณ 7.1%

ส่วนผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีรายได้รวม 50,744.50 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,935.33 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 42.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายไชยกล่าวต่อว่า และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากอัตราการจ่ายสินไหมสุขภาพของบริษัทช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และหลังการแพร่ระบาดอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งบริษัทยังสามารถบริหารจัดการด้านสินไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับบริษัทมีเงินสำรองประกันชีวิตที่สูง ณ ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 344,590 ล้านบาท ซึ่งพร้อมจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญากรมธรรม์

เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่

บริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน

“ไทยประกันชีวิตดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ ‘การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน’ ด้วยแนวคิดมุ่งสู่การเป็นทุกคำตอบด้านการวางแผนชีวิตและการเงินส่วนบุคคล (Life & Financial Solutions) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบปัจเจกบุคคล ในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) รวมถึงการพัฒนาบริการที่มากกว่าการประกันชีวิต เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไร้รอยต่อ และตรงตามความต้องการ

ปัจจุบันบริษัทมีช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนประกันชีวิตกว่า 66,000 ราย ซึ่งไทยประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่มีจำนวนตัวแทนมากที่สุด และสามารถสร้างเครือข่ายตัวแทน ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเป็นช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญที่ช่วยให้บริษัท สามารถเปลี่ยนผ่านจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบพื้นฐาน ไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนและให้ผลกำไรมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีสาขาและศูนย์บริการลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 270 แห่ง”

ทั้งนี้มีการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การขายทางโทรศัพท์ และ E-Commerce รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแก่ลูกค้า อาทิ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและองค์กรของรัฐ บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ บริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค

ซึ่งบริษัททำสัญญาทั้งในลักษณะการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive) และสัญญาการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบทั่วไป (Non-exclusive) กับพันธมิตร ช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกพันธมิตรที่ดีที่สุดในแต่ละด้าน และส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทโดยรวมในระยะยาว ปัจจุบันบริษัทเป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์จำนวน 4 แห่ง ซึ่งมีเครือข่ายสาขากว่า 750 แห่งทั่วประเทศไทย และเป็นพันธมิตรกับธนาคารและองค์กรของรัฐอีกจำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีเครือข่ายสาขากว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ

ธุรกิจประกันชีวิตในไทยใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน

ทั้งนี้จากรายงานธุรกิจประกันชีวิตไทย ที่จัดทำโดย Milliman Limited ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยอิสระ รายงานว่า ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 7.3% โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และในปัจจุบันมีอัตราการเข้าตลาด (Penetration Rate) สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดีในปี 2563 อัตราการเข้าตลาด (Penetration Rate) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำคิดเป็น 3.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตในไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตจากปัจจัยหนุนแนวโน้มคนไทยที่มีรายได้สุทธิที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการคุ้มครองสุขภาพและประกันชีวิตที่เพียงพอ และความต้องการวางแผนเกษียณอายุและการออมทั่วไปที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างโอกาสสำคัญในการเติบโตให้กับบริษัทประกันชีวิต ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจต่อไป

อนึ่ง ไทยประกันชีวิตมีรากฐานมายาวนานกว่า 79 ปี โดยถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2485 และเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกในประเทศไทย ที่เป็นของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาแบรนด์ “ไทยประกันชีวิต” ให้เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่างดีว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการประกันภัยชั้นนำของประเทศไทย รวมไปถึงมีการรับรู้ถึงแบรนด์อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย โดยภาพลักษณ์ของแบรนด์ “ไทยประกันชีวิต” คือ คู่คิด เพื่อทุกชีวิต รู้รอบ รอบรู้ คนดี มุ่งมั่นทำดี และมองไกลและทุ่มเท

โดยถือหุ้นของบริษัทคือ ครอบครัวไชยวรรณ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรายใหญ่ของบริษัท ได้ให้การสนับสนุนบริษัทมาตั้งแต่ปี 2513 จากรุ่นสู่รุ่น โดยสมาชิกของครอบครัวไชยวรรณ ซึ่งมีแนวคิดทางธุรกิจและมีประสบการณ์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของบริษัท โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกและความเชี่ยวชาญของบุคคลดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนบริษัท ให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ Meiji Yasuda Life Insurance Company (MY) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์ (Strategic Shareholder) ของบริษัทก็เป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดย MY ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้และความชำนาญต่าง ๆ ที่บริษัทได้นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท เช่น วิธีการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน และการวิเคราะห์และการพัฒนาเครื่องมือการขายทางดิจิทัลสำหรับตัวแทนประกันของบริษัท


นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่แข็งแกร่งของ MY เพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงกลยุทธ์และการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลของบริษัทด้วย นอกจากความเชี่ยวชาญในด้านการปฏิบัติงานแล้ว MY ยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มตลาดใหม่ ๆ โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางธุรกิจระดับโลกของ MY โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น