“ไร่อ้อย” จมน้ำเฉียด 6 หมื่นไร่ ลุ้นเปิดหีบ’64/65ผลิตถึง 90 ล้านตัน

GISTDA ชี้ไร่อ้อยน้ำท่วมเฉียด 6 หมื่นไร่ จับตาราคา-ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาล 64/65 ธ.ค. “สอน.” ยังมั่นใจระบายน้ำเร็วไม่ท่วมขัง จะหนุนผลผลิตอ้อยเข้าหีบแตะ 90 ล้านตันแถมราคาตลาดโลกพุ่ง 18-19 เซนต์/ปอนด์ บวกกับเงินบาทอ่อน ชมรมสถาบันอ้อยภาคอีสานคาดไม่กระทบผลผลิต ยังมั่นใจได้ราคาตันละ 1 พันบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ขณะนี้พื้นที่ปลูกอ้อยที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม (วันที่ 18 ต.ค. 2564) มี 24 จังหวัด รวม 59,903 ไร่

โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จ.ชัยภูมิ 15,631 ไร่ กำแพงเพชร 11,026 ไร่ ขอนแก่น 7,905 ไร่ นครราชสีมา 6,059 ไร่ และลพบุรี 2,742 ไร่

ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า สภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากและส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งคาดว่าจะมีบางพื้นที่เพาะปลูกอ้อยได้รับความเสียหาย นับจากวันที่ 23 กันยายน เป็นต้นมา มีฝนตกมากต่อเนื่องไปถึงปลายเดือนตุลาคมก่อนเข้าฤดูหนาว หากแปลงอ้อยมีน้ำท่วมขังขณะนี้ต่อเนื่อง 8-12 สัปดาห์ อ้อยจะหยุดเติบโต ใบเหลือง และเกิดความเสียหาย ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน จากที่รากอ้อยขาดอากาศ

สอดคล้องกับแหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า โดยปกติแล้วหากน้ำท่วมมิดยอดอ้อยประมาณ 7 วัน อ้อยจะเสียหาย 50% แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบ

เพราะช่วงนี้อ้อยอยู่ในช่วงโตแล้ว แต่อาจมีผลกระทบกับคุณภาพของอ้อยบ้าง เนื่องจากพืชอ้อยเมื่อโดนน้ำท่วมขังจะมีการแตกกอ ซึ่งก็จะดึงสารอาหารมาใช้ ทำให้อ้อยจะหยุดการเติบโต (ความสูง) และน้ำหนักลำอ้อยจะลดลง

ทั้งนี้ ไร่อ้อยโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ดอน น้ำท่วมครั้งนี้จึงยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ปีนี้ปริมาณน้ำฝนมาก กลับส่งผลทำให้อ้อยเติบโตได้ดี ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มจากฝนที่ดีในปีนี้จะไปชดเชยอ้อยที่เสียหายจากน้ำท่วม จึงทำให้ไม่กระทบกับปริมาณอ้อยเข้าหีบของฤดูกาล 2564/2565

ซึ่งตามคาดการณ์ของคณะกรรมการอ้อยฯประเมินอ้อยที่จะเข้าหีบปีนี้ไว้ที่ 85 ล้านตัน และคาดว่าจะเกินกว่าที่ประเมิน เนื่องจากฝนดีอาจอยู่ที่ 85-90 ล้านตันจากปีก่อน 66.6 ล้านตัน

ในส่วนของค่าความหวาน CCS รวมของทั้งประเทศก็ไม่น่าลดลงเช่นกัน โดยปีที่แล้ว CCS เฉลี่ยอยู่ที่ 12.91 ในส่วนของราคาอ้อยปี’64/65 คาดว่าราคาจะดีเช่นกัน เพราะราคาตลาดโลกอยู่ที่ 18-19 เซนต์/ปอนด์ จากปีก่อน 16 เซนต์/ปอนด์ บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนของไทยไม่แข็งค่าอยู่ที่ 33 บาท

“อ้อยถ้าโตแล้วแช่ในน้ำได้ (ยอดอ้อยพ้นน้ำ) แต่ปีนี้บางส่วนโดนพายุทำให้อ้อยล้มก็เลยถูกน้ำท่วมเสียหายบ้างแต่ไม่มาก ถ้าน้ำลดเร็วภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ก็ไม่น่ามีปัญหา อาจมีปัญหาในการเข้าไปตัดอ้อย เพราะถ้าดินนิ่มรถตัดและรถบรรทุกอ้อยจะเข้าไม่ได้

อาจติดหล่มและไปย่ำทำให้ตออ้อยเสียหาย ซึ่งปกติไร่อ้อยปลูก 1 ครั้ง จะเก็บตอเดิมไว้ตัดใหม่ได้ 3-4 รอบ จากการประเมินของเราคาดว่ามันไม่กระทบปริมาณอ้อยปีนี้แน่นอน”

นายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ฝนปีนี้ทางภาคอีสานต่อให้ตกมาก แต่ด้วยพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบสูง และคาดว่าฝนจะหยุดตกภายในสิ้นเดือนนี้

ซึ่งยังไม่เป็นอะไรที่น่ากังวล แต่ต้องจับตามองพื้นที่ปลูกในส่วนภาคกลางมากกว่า เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมแล้วลดช้า แต่เบื้องต้นยังไม่พบว่าปริมาณอ้อยจะลดลงเกินกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกันราคาอ้อยขั้นต้นก็คาดว่าจะเกิน 1,000 บาทนับว่าเป็นราคาที่ดี