ก.แรงงาน ลุยฝึกคนรายได้น้อยชายแดนใต้

กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ลุยทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดโครงการพิเศษควบคู่ความมั่นคง รักถิ่นเกิด ตั้งเป้าปีนี้ 800 คน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตามนโยบายของรัฐบาลและปลัดกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการตามข้อมูลแรงงานนอกระบบและผู้ลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 20 จังหวัด ที่มีกลุ่มผู้รายได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือ และภาคอีสาน และมีกำหนด Kick–Off พร้อมกันทั้งประเทศ 14 ธันวาคม 2560 จำนวน 3,840 คน

สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา กพร.ได้จัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการฝึกอบรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 800 คน แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแรก เป็นการฝึกทักษะอาชีพให้กับกลุ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เข้าฝึกอบรมจะเป็นกลุ่มแรงงานทั่วไป ผู้มีรายได้น้อย ที่อยู่ในบริเวณโดยรอบอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จำนวน 600 คน อีกกิจกรรมคือ การฝึกอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายตามโครงการพาคนกลับบ้าน เป็นกลุ่มแนวร่วม จำนวน 200 คน
นายเชาวฤทธิ์ รัตนรังษี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 ปัตตานี กล่าวว่า สถาบันฯ ปัตตานีได้รับเป้าหมายดำเนินการใน 2 กิจกรรมนี้รวม 200 คนด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านบาท จำนวน 10 รุ่น มีระยะเวลาการฝึก 10 วัน (60 ช.ม.) โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะเป็นผู้หากลุ่มเป้าหมาย และร่วมกับหน่วยปฏิบัติการอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน ในการรับรองกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าฝึก เป้าหมาย 200 คน ประกอบด้วยการฝึกทักษะให้กับแรงงานทั่วไป ผู้มีรายได้น้อย 140 คน และกิจกรรมพาคนกลับบ้าน เป็นกลุ่มแนวร่วม จำนวน 40 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 รุ่นๆละ 20 คน รุ่นที่ 1 การฝึกอบรมโครงบูโด-สุไหงปาดี ณ ม.1 บ้านบาโง ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี รุ่นที่ 2 โครงการพาคนกลับบ้าน ณ ม.8 บ้านปาแดกือมูติง ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ในสาขาปูกระเบื้อง ระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2560 โดยผู้ที่ผ่านการฝึกทุกคน จะได้รับมอบเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย หลักสูตรที่ดำเนินการ อาทิ ช่างเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างก่ออิฐ-ฉานปูน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า การทำขนมไทยการทำขนมอบ การแต่งผมสุภาพบุรุษ เป็นต้น พร้อมแทรกเนื้อหาการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด หันมาประกอบอาชีพอย่างจริงจัง ไม่กลับไปอยู่ในกลุ่มแนวร่วมอีกต่อไป

การพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาความยากจนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และที่สำคัญคือสามารถดึงทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิด สร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศอีกด้วย อธิบดีกพร.กล่าวท้ายที่สุด