คปภ.ปักธงดันไทยศูนย์กลาง “อินชัวร์เทค” แห่งอาเซียน

คปภ.ปักธงดันประเทศไทย ศูนย์กลาง “อินชัวร์เทค” แห่งอาเซียน ด้าน “สุทธิพล” เผยวิกฤตโควิดเปลี่ยนธุรกิจประกันภัย จัดโรคระบาดความเสี่ยงใหม่ กาง 5 แนวทางส่งเสริมธุรกิจประกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

 

วิกฤตโควิดเปลี่ยนธุรกิจประกัน

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในงานสัปดาห์ประกันภัย “Thailand InsurTech Fair 2021” มหกรรมประกันภัยรูปแบบใหม่ครั้งแรกของประเทศไทย ว่า โลกหลังโควิด-19 ธุรกิจประกันภัยจะไม่เหมือนเดิม เพราะอุบัติการณ์โรคติดเชื้อโควิดจัดเป็นความเสี่ยงใหม่ หรือเรียกว่า New Emerging Risk ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลก ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งทะยานกว่า 233 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4.7 ล้านคน

ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของประชาชน มีการประเมินว่าผลกระทบโควิดในครั้งนี้ก่อให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงปี 2472 ซึ่งไม่นับรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมและพฤติกรรมของผู้คน การรักษาระยะห่างของสังคม ข้อจำกัดในการเดินทาง ส่งผลให้ทัศนคติในการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เห็นได้จากธุรกรรมออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“เราได้เห็นรัฐบาลในแต่ละประเทศปรับตัวออกมาตรการดูแลสุขภาพอนามัย การป้องกันแพร่ระบาดโควิด การจัดหาวัคซีน และการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการขับเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

5 แนวทางส่งเสริมธุรกิจประกัน พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

เลขาธิการ คปภ.กล่าวต่อว่า ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยในระยะถัดไปให้มีความมั่นคงยั่งยืน และมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 แนวทางหลักคือ 1.การนำเทคโนโลยีมาใช้ : ต้องเร่งสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิด Digital Transformation ในอุตสาหกรรมประกันภัยและการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขัน ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง

2.ส่งเสริมเชิงพาณิชย์ : ช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจประกันภัยฟื้นตัว โดยกำหนดมาตรการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ส่งผลกระทบต่อผลดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทประกันภัย โดยคำนึงถึงความแตกต่างของขนาดและความพร้อมของบริษัท

3.ส่งเสริมคนกลางประกันภัย : ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเสนอขาย และปรับเปลี่ยนบทบาทของคนกลางประกันภัยในรูปแบบการให้คำแนะนำ รวมไปถึงการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ด้วย

4.ส่งเสริมความยั่งยืน : ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการดำเนินธุรกิจและลงทุนที่สะท้อนแนวคิด ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างเป็นรูปธรรม

5.การกำกับดูแล : คปภ.ต้องเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ ๆ และปรับกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่น (Principle Based Supervision) และสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล

ชี้อุตฯอินชัวร์เทคโต 48.88% ต่อเนื่องปี 2571

“จากรายงานของ Geneva Association ชี้ชัดว่าการปรับตัวสำคัญขององค์กรที่จะเกิดขึ้นในวิกฤตครั้งนี้ คือ การทำงานระยะไกล หรือ Remote Working เร่งทะยานปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราพบเห็นอินชัวร์เทค (InsurTech) เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผลการศึกษาของ Grand View Research ของสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการเติบโตของขนาดตลาดอุตสาหกรรมอินชัวร์เทคเพิ่มสูงขึ้นกว่า 48.88% ต่อปี และจะต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงปี 2571 โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจประกันภัย ไม่ว่าจะใช้เพื่อสื่อสาร, ค้นหากลุ่มลูกค้า, เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานภายในองค์กรให้เติบโตสูงขึ้น” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

 

คปภ.ปักธงดันไทย “อินชัวร์เทค” ฮับอาเซียน

ดังนั้นในภาพรวมประเทศไทยขณะนี้ถือว่ามีระดับในการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่เป็นอย่างมาก คปภ.จึงตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศเป็น “อินชัวร์เทคฮับ” ของภูมิภาคอาเซียน โดยขณะนี้กระบวนการทำงาน คปภ.ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ภายในองค์กรของระบบสารสนเทศที่มีความเป็นอัตโนมัติในรูปแบบ SMART OIC เช่น นำเอไอมาใช้พิจารณาอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเครื่องมือในการกำกับดูแล วิเคราะห์ตรวจสอบฐานะการเงิน การดำเนินการ และความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย

และมีการพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงระบบประกันภัยมากขึ้น รวมไปถึงการออกใบอนุญาตคนกลางประกันภัย และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยผ่านระบบออนไลน์ และการยื่นข้อร้องเรียนทางออนไลน์ ซึ่งเบื้องต้นสิ่งที่ คปภ.ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. ฐานข้อมูลประกันภัย (IBS) 2.e-Insurance 3.อนุมัติกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ 4.เว็บไซต์กูรูประกันภัย 5.Regulatory Sandbox 6.อนุมัติช่องทางขายแบบ Digital Face-to-Face 7.ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมประกันภัย (CIT) 8.OIC Gate Way ศูนย์การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ API 9.My Insurance เปิดให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ของฉันผ่านแอปพลิเคชั่น LINE คปภ.รอบรู้