บอร์ด PPP จี้เดินหน้าโครงการกลุ่ม High Priority PPP มูลค่า 5 แสนล้าน

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

บอร์ด PPP เห็นชอบการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ใช้กับโครงการ PPP ยกระดับความโปร่งใส เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน เร่งโครงการในกลุ่ม High Priority ลงทุนตามแผน

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 4/2564 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ระบุว่า คณะกรรมการ PPP เห็นชอบหลักการแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งประกาศ สคร. สำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้กับโครงการร่วมลงทุน ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)

โดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดให้มีการดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือโครงการร่วมลงทุนที่คณะกรรมการ PPP พิจารณาเห็นสมควร

ส่วนในชั้นของการคัดเลือกเอกชน จะมีผู้สังเกตการณ์ที่มีความรู้ความสามารถ และไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากหน่วยงานที่ สคร. มอบหมายเข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ในขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อรายงานผลการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม ประกอบการนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ การนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาปรับใช้กับโครงการร่วมลงทุน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการ รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการร่วมลงทุน ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น

ลงทุน รัฐวิสาหกิจ
โครงการร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ 67 โครงการ มูลค่า 9.97 แสนล้านบาท (ที่มา http://www.sepo.go.th/news/1171)

เร่งโครงการ High Priority PPP Project

คณะกรรมการ PPP มอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัด หน่วยงานเจ้าของโครงการ และ สคร. ทำหน้าที่เร่งรัดโครงการในกลุ่มที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) ภายใต้แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาและแล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศในภาพรวม ลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ รวมทั้งสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 มีทั้งหมด 67 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 9.97 แสนล้านบาท ส่วนโครงการในกลุ่มสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) มีทั้งหมด 19 โครงการ มูลค่า 4.9 แสนล้านบาท อาทิ

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มูลค่า 124,791 ล้านบาท รับผิดชอบโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  • โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มูลค่าโครงการ 35,201 ล้านบาท รับผิดชอบโดย รฟม.
  • โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (rest area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 1,606 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง

ไฟเขียวโครงการบริการลานจอดฯ สุวรรณภูมิ มูลค่า 4.3 พันล้าน

พร้อมกันนี้มีมติเห็นชอบให้โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้น และกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการขนาดกลาง ที่มีมูลค่า 4,374 ล้านบาท ถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 แบบเต็มรูปแบบ

เนื่องจากรัฐมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการอยู่ในระดับสูง และโครงการอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมการบินในภาพรวม


ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำและดำเนินโครงการดังกล่าวในขั้นตอนต่อไปเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีความรอบคอบ