แบงก์ชาติจ่อเปิด landscape บริการการเงินไทยใหม่ต้นปีหน้า

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯ ธปท. เร่งปรับ landscape การเงิน ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินทั่วถึง เป็นธรรม พร้อมสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินไทยรองรับ “ช็อก” ได้ดีขึ้น คาดต้นปีหน้าเห็นรูปธรรมชัดเจน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Looking Beyond Covid-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19” ว่า ปัจจุบัน ธปท. กำลังเร่งวาง future financial landscape เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ก็ต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับ shock ได้ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในต้นปีหน้า

โดยภายใต้ landscape นี้ ธปท. จะปรับแนวทางการดูแลระบบการเงินจากการเน้นเรื่อง stability (ความมั่นคง) มาให้น้ำหนักกับ resiliency (ความยืดหยุ่น) โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และ SMEs ให้ดีขึ้น

“ปัจจุบัน ยังมีข้อด้อยที่ครัวเรือน 86% ยังมีหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ และกว่า 60% ของ SMEs ในไทย ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งการนำเทคโนโลยี เช่น digital มาใช้ จะช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น

“นอกจากนี้ ในระยะต่อไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงิน ผ่าน API และ digital ID ภายใต้ National Digital ID (NDID) platform จะช่วยลดขั้นตอนธุรกรรม ลดต้นทุน และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดกับประชาชนและภาคธุรกิจ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า ส่วนการปรับตัวเข้าสู่กระแสความยั่งยืนที่มาเร็วและแรงกว่าที่คาด ธปท. ได้เร่งสร้างการตระหนักรู้ และจะออกแบบ ecosystem ที่มีองค์ประกอบสำคัญ เช่น การเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อม และการนิยามการเงินสีเขียว หรือ green taxonomy ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ ในการจัดทำ จะคำนึงถึงบริบทของไทยที่ยังแตกต่างจากสากลอยู่บ้าง เพื่อช่วยให้การปรับตัวของธุรกิจและระบบการเงินเป็นไปอย่างราบรื่น