ขุนคลัง มอบโจทย์ คปภ. ขับเคลื่อน ศก.หลังโควิด ดันประกันต่อยอดสวัสดิการรัฐ

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง มอบ 3 โจทย์ สำนักงาน คปภ.-ธุรกิจประกันภัย ร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ลุยขยายผลสู่ประกัน ‘ปศุสัตว์-ประมง’ ยกระดับประกันสุขภาพต่อยอดสวัสดิการรัฐ รับมือสังคมสูงวัยเต็มรุปแบบปี 2573

 

ระบบประกันรองรับความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจ-สังคม’

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ระบบประกันภัยกับการขับเคลื่อนการฟื้นตัวและรองรับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและสังคม” ในงานการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2564 (CEO Insurance Forum 2021) ว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทยอยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นแล้ว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม สาธารณสุข ตลอดจนคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก

อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายในหลากหลายมิติ อาทิ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ สภาวะภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาของเทคโนโลยีนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ และการเกิดโรคอุบัติใหม่ ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุดธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ประเทศไทยในปี 2564 จากเดิม 2.2% ลงเหลือ 1% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวถึง 3 ปี โดยมีปัจจัยเสริม คือ การกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ

ความสำเร็จโครงการประกันข้าวนาปี

โดยที่ผ่านมาภาคธุรกิจประกันภัยได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความเข้มแข็งให้กับประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนฐานราก เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

โดยการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 ได้กำหนดเป้าหมายในการทำประกันภัยไว้ถึง 46 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวเกือบทั่วประเทศแล้ว ซึ่งผมต้องขอชื่นชมทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยมีการเยียวยาค่าเสียหายให้กับเกษตรกรไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบ และดูแลเกษตรกรที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

ขยายผลสู่ ประกัน ‘ปศุสัตว์-ประมง’

โดยหวังว่าในอนาคตจะขยายผลไปสู่การประกันภัยพืชผลประเภทอื่น รวมถึงปศุสัตว์และประมงด้วย และอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนของความสำคัญของการประกันภัย คือ การจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 และกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับความเสี่ยงของประชาชนคนไทยอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องการขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมการทำ Home isolation และ Community isolation ส่งผลให้ช่วยสร้างความมั่นใจต่อผู้เอาประกันภัยได้อย่างดียิ่ง

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งมาตรการด้านการคลัง ด้านการเงิน และด้านภาษี เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ

รวมทั้งได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพื่อให้สถานการณ์ของไทยกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 454,000 ล้านบาท เป็นต้น มาตรการเหล่านี้นอกจากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์โดยตรงกว่า 51 ล้านคนแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงห่วงโซ่เศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย

 

ฝาก 3 โจทย์ คปภ.ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

โดยการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิด-19 พัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน คือ เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งกระทรวงการคลังมีนโยบายมุ่งเน้นนำการประกันภัยเข้ามาช่วยเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม จึงอยากฝากโจทย์สำคัญให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคธุรกิจ บูรณาการร่วมมือกัน เพื่อให้การประกันภัยเข้าไปมีบทบาทที่สำคัญใน 3 ประเด็นดังนี้

1.การส่งเสริมให้การประกันภัยเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม จากสถานการณ์โควิด-19  ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในวงกว้างทั่วโลก อุตสาหกรรมประกันภัยได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน แต่เรายังเห็นศักยภาพของธุรกิจประกันภัยในการปรับตัวและตอบสนองต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่กระทรวงการคลังคาดหวังคือ “การประกันภัยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ” เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

ซึ่งโอกาสของการประกันภัยยังมีอีกมาก อาทิ การขยายความคุ้มครองไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งการพัฒนากฎหมายประกันภัยพืชผลทางเกษตร เพื่อให้เกิดการพัฒนาในเรื่องนี้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยพิบัติ และการนำประกันภัยเข้ามาสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การประกันภัยทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านทรัพย์สินให้กับภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นระบบ อีกประเด็นหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นอีกมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การสร้าง “ความมั่นคงด้านสุขภาพ” ผ่านการประกันภัยสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

ยกระดับประกันสุขภาพต่อยอดสวัสดิการรัฐ

รวมถึงการยกระดับการประกันสุขภาพต่อยอดของระบบสวัสดิการ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากระบบสวัสดิการในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ในเรื่องของการกำหนดให้ “สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ” โดยประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี 2565 และในปี 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 27% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้นความต้องการเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปด้วย การพัฒนากฎหมายประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่จะช่วยกำหนดมาตรฐาน แนวทางการพัฒนาที่เป็นระบบและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในเรื่องนี้

2.การปรับตัวด้านดิจิทัล

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกมิติ โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ดังนั้น คปภ.ต้องพิจารณาออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการสร้าง Ecosystem ให้กับภาคธุรกิจ สนับสนุนให้มีการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน และพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจ

เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนในวงกว้าง และเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในอนาคตเราไม่สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญได้ ดังนั้นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะยาวเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

3.ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ควบคู่กับ “การสร้างความรอบรู้ด้านการประกันภัย” ให้กับประชาชนให้เข้าใจสิทธิเงื่อนไขความคุ้มครอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการร้องเรียนในภายหลัง ธุรกิจประกันภัยต้องยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

ให้สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เอาประกันภัยและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย อันจะช่วยให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน