เปิดไทม์ไลน์ ยุบสภา กฎหมายลูก-พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก่อนเลือกตั้ง

ตามรัฐธรรมนูญใหม่ การยุบสภา เลือกตั้งใหม่ จะเกิดขึ้นหลังประกาศใช้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ตามไทม์ไลน์กระบวนการจัดทำจะดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่บริหารจนครบวาระ ต้นปี 2566

ทุกลมหายใจของนักการเมือง-นักธุรกิจ ต่างจับตาการเลือกตั้งจะปี 2565 หรือ 2566 เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางการเมือง การลงทุน

ไม่ว่า วัน ว. เวลา น. เลือกตั้งจะออกมาปีไหน มีกฎหมายลูก 2 ฉบับ จะเป็น “ตัวแปร” สำคัญ

ฉบับแรก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ฉบับที่สอง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

หลังกฎหมาย 2 ฉบับประกาศใช้ ลมการเมืองจะผันผวนทันที ตามการคาดการณ์ของ “หมอกฎหมาย” ประจำรัฐบาล “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่พยากรณ์ลมการเมืองให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฟังและตึกตรองว่า

“ถ้ากฎหมายลูกมีการประกาศใช้จะมีการกดดันให้มีการยุบสภา รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง”

ขณะนี้ทั้งคณะรัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่างเตรียมร่างกฎหมายลูกทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  ที่จะเข็นเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา

แบ่งเป็น 1.ร่างกฎหมายลูกที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (มีผู้ร่างคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ซึ่งจะเป็น “ร่างหลัก” ในการพิจารณาของรัฐสภา 2.ร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ตั้งคณะกรรมการร่วมกันโดยมี “วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน 3.ร่างกฎหมายลูกของพรรคเพื่อไทย 4.ร่างกฎหมายลูกของพรรคก้าวไกล

ตามขั้นตอนอกฎหมายลูก จะประกาศใช้ยังต้องผ่านด่านขั้นตอนสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132

1.การพิจารณากฎหมายลูกจะต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน การโหวตในวาระที่ 3 จะต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา

2.ถ้าไม่เสร็จตามกำหนด ให้รัฐสภาเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามร่างหลักที่เสนอมา

3.หากที่ประชุมรัฐสภาผ่านกฎหมายในวาระ 3 ให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วง ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย ให้รัฐสภาส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ

4.ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา

เพื่อให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว เมื่อดําเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ดังนั้น “หมอกฎหมายวิษณุ” จึงคำนวณไทม์ไลน์ตามปฏิทินรัฐธรรมนูญ เมื่อกฎหมายลูกทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีแนวโน้มจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ช่วงเดือนมกราคม 2565

“ยังไม่รู้ว่าจะแก้กฎหมายลูกเสร็จเมื่อไหร่ อีกทั้งกฎหมายลูกไม่เหมือนกฎหมายอื่น ๆ ที่สภาพิจารณาเสร็จคือเสร็จ แต่กฎหมายลูกพอสภาพิจารณาเสร็จต้องส่งไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้คือ กกต. ชมีกรอบเวลากำหนด

หาก กกต.เห็นว่าควรจะต้องแก้อะไรบางอย่าง ใครที่ไปแก้ของ กกต.จะเจอตรงนี้ เพราะถ้า กกต.ยืนยันกลับมาก็ต้องแก้ตาม กกต. ซึ่งตรงนี้รัฐบาลพร้อมออกพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญให้

เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็นำความทูลเกล้าฯถวาย ตนจึงเคยคิดไทม์ไลน์ว่ากฎหมายลูกจะมีการประกาศใช้ช่วง กรกฎาคม 2565 เพราะคิดว่าเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วงเมษายน 2565

จากนั้นก็ทูลเกล้าฯถวาย กรอบเวลา 90 วันจะอยู่ที่ประมาณกรกฎาคม 2565 นี่คือการคิดเวลายาวที่สุดไว้ก่อน แต่ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน กรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น”

ส่วนหัวหน้าฝ่ายค้าน “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บีบไทม์ไลน์ให้สั้นลงไปอีก

กฎหมายลูกจะเสร็จเมื่อใดขึ้นอยู่กับกรรมาธิการและการนำเสนอเข้าสู่สภา แต่ตามรัฐธรรมนูญต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน หากไม่เสร็จถือว่าให้นำร่างที่เข้าสู่สภาประกาศใช้เลย เท่าที่ฟังหลายภาคส่วนทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีเจตนารมณ์จะทำให้เร็ว

คาดว่าในชั้นกรรมาธิการน่าจะเสร็จภายในไม่เกิน 2 เดือนหลังรับร่างไปแล้ว และนำกลับเข้าสภาวาระ 2-3 ทั้งหมดไม่น่าเกิน 4 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 6 เดือน หากร่างกฎหมายลูกเข้าสภาเดือนธันวาคม เวลา 6 เดือน ประมาณเดือนพฤษภาคม 2565 น่าจะจบ ไม่น่าถึงเดือนกรกฎาคม 2565

อย่างไรก็ตาม มีสมมุติฐานการเมืองอีกขุดหนึ่งแทรกขึ้นมา ภายหลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ ทำให้การเลือกตั้งในครั้งต่อไป ต้องเปลี่ยนกติกาเป็นเลือกตั้ง  2 ใบ แต่วิธีการคำนวณต่างๆ ยังอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง มีการยุบสภาไปก่อนที่กฎหมายลูกจะเสร็จจะทำอย่างไร “นิกร จำนง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา และเป็นหนึ่งในวิปรัฐบาล เฉลยคำตอบว่า

“ถ้าให้ ครม.นั่งคิดเอง (กฎหมายลูก) คนก็หาว่าเอาเปรียบเรื่องการเลือกตั้ง รองวิษณุ จึงเชิญ กกต.มา เรื่องนี้มีมุมการเมืองอยู่ สมมุติว่ามีการยุบสภาก่อนกฎหมายเสร็จ เชื่อว่าในทางการเมือง ครม.ยึดถือเอาร่างของ กกต.แล้วประกาศเป็นพระราชกำหนดก็ได้เหมือนกัน”

“ถ้าเกิดไม่เสร็จ มีอุบัติเหตุ มีการยุบสภา กฎหมายยังไม่เสร็จ ถ้า ครม.ไปออกพระราชกำหนดเองก็หาว่าเอาเปรียบคนอื่น จึงเอาของ กกต.ที่ส่งผ่านมายัง ครม. คนก็ไม่ว่า ก็ไปได้”

ขณะนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.กำลังวนไปให้ กกต.จังหวัดทั่วประเทศ เปิดรับฟังความคิดเห็น 15 วัน เมื่อครบกำหนดจะส่งมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้มีมติเสนอสู่รัฐสภา

เปิดสูตรคำนวณ คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (บัตรใบที่ 2 เลือกพรรค) ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต. ในมาตรา 30 ระบุว่า

ให้ยกเลิกความในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 128 เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ จากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ

(2) ให้นําคะแนนรวมจาก (1) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

(3) ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมือง ได้รับหารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจํานวนเต็มคือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

(4) ในกรณีที่จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (3) เป็นเศษที่มีจํานวนมากที่สุด ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมด ได้รับรวมกันครบจํานวนหนึ่งร้อย

(5) ในการดําเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการกําหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับตามผลการคํานวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชี รายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทําขึ้น”

ตามไทม์ไลน์ของ “วิษณุ” มกราคม 2565 จะเริ่มคิกออฟ…กฎ-กติกา นำไปสู่การเลือกตั้ง ตามวิถีธรรมชาติและปกติ