ADB หั่นจีดีพีภูมิภาคเอเชียปี’65 เหลือโต 5.3%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี เผยรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี’64 ระบุปรับลดคาดการณ์จีดีพีประเทศกำลังพัฒนาลงเล็กน้อย โดยปีนี้ขยายตัว 7.0% และปี’65 อยู่ที่ 5.3% เหตุโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ฉุดการเติบโตไตรมาส 3/64 ชะลอตัว

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2564 ฉบับเพิ่มเติม (Asian Development Outlook 2021 Supplement) ในวันนี้

โดยได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเอเชียปี 2564 ลงเล็กน้อยอยู่ที่ 7.0% ในปีนี้ และ 5.3% ในปีหน้า หลังจากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกครั้ง ซึ่งทำให้การเติบโตในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลง

ทั้งนี้ การคาดการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าวเป็นการปรับลดลงจากที่เคยได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่จะเติบโต 7.1% ในปี 2564 และ 5.4% ในปี 2565 สำหรับแนวโน้มการเติบโตของอนุภูมิภาคต่าง ๆ เอดีบีได้ปรับลดการเติบโตอนุภูมิภาคทั้งหมดลงเล็กน้อยเช่นกัน ยกเว้นภูมิภาคเอเชียกลาง

นายโจเซฟ ซเวกลิช จูเนียร์ รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบีกล่าวว่า ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของเอเชียในการจัดการกับ COVID-19 ผ่านการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และการใช้มาตรการควบคุมเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตในช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งใหม่ในไตรมาส 3 ทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลง และการถือกำเนิดของไวรัส Omicron ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นใหม่ ซึ่งความพยายามในการกู้คืนเศรษฐกิจนั้นจะต้องคำนึงถึงมาตรการจัดการกับไวรัสตัวใหม่นี้ด้วย

ความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตยังคงเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยต่อวันทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 573,000 รายในวันที่ 30 พฤศจิกายน จาก 404,000 รายในวันที่ 15 ตุลาคม อัตราการฉีดวัคซีนของเอเชียกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นอย่างมากอยู่ที่ 48.7% (ฉีดวัคซีนครบแล้ว) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน

แม้ว่าภูมิภาคจะยังคงตามหลังสหรัฐอเมริกาที่ 58.1% และสหภาพยุโรปที่ 67.2% ทั้งนี้ อัตราของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดแล้วนั้นยังแตกต่างกันอย่างมากในภูมิภาค จากอัตราสูงถึง 91.9% ของประชากรทั้งหมดในสิงคโปร์ ไปจนถึงอัตราต่ำสุด 2.2% ในปาปัวนิวกินี

แนวโน้มโดยรวมสําหรับประเทศเอเชียกำลังพัฒนานั้น เศรษฐกิจของเอเชียกลางคาดว่าจะเติบโตที่ 4.7% ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และการคาดการณ์สำหรับปีหน้านั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จาก 4.2% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ส่วนแนวโน้มการเติบโตของเอเชียตะวันออกนั้นถูกปรับลดลง 0.1% จุด สำหรับทั้งปี 2564 และ 2565 มาอยู่ที่ 7.5% และ 5.0% ตามลำดับ ในขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ได้ถูกปรับลดลงเล็กน้อยเช่นกัน โดยล่าสุดคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ 8.0% ในปีนี้ และ 5.3% ในปีหน้า

สำหรับเอเชียใต้นั้นคาดว่าจะเติบโตที่ 8.6% ในปี 2564 เทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 8.8% ในเดือนกันยายน ซึ่งแนวโน้มปี 2565 ของอนุภูมิภาคยังคงอยู่ที่ 7.0% สำหรับอินเดียซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้นั้น คาดว่าจะเติบโตที่ 9.7% ในปีงบประมาณ (FY) 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยการเติบโตลดลง 0.3% จุดนั้นมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของอินเดียในปีงบประมาณ 2565 จะอยู่ที่ 7.5% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศคาดว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติ

แนวโน้มการเติบโตปี 2564 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้ถูกปรับลดลง 0.1% มาอยู่ที่ 3.0% เนื่องจากประเทศในอนุภูมิภาคได้ออกข้อบังคับต่าง ๆ เมื่อครั้งเผชิญกับ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับการคาดการณ์การเติบโตในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% จากที่คาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับการผ่อนคลายข้อจำกัดโดยรวม อีกทั้งการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนการคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคแปซิฟิกนั้นยังคงหดตัวอยู่ที่ 0.6% ในปีนี้ และปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 4.7% ในปี 2565

อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคคาดว่าจะยังคงบริหารจัดการได้ที่ 2.1% ในปี 2564 และ 2.7% ในปี 2565 โดยจะช่วยให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น และยังสนับสนุนความพยายามในการฟื้นตัวจากโรคระบาดอีกด้วย

ทั้งนี้ รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปีของเอดีบีจะเผยแพร่ทุกเดือนเมษายน โดยมีฉบับปรับปรุงที่เผยแพร่ในเดือนกันยายน และฉบับเพิ่มเติมโดยย่อที่เผยแพร่ตามปกติในเดือนกรกฎาคมและธันวาคม

ซึ่งประเทศเอเชียกำลังพัฒนานั้นหมายถึง 46 ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของเอดีบี โดยเอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศมาจากประเทศในภูมิภาค