คลังเร่งแก้ปมจัดซื้อจัดจ้าง “คน-ไอที”ไม่พร้อมท้องถิ่นผวาโทษหนัก

กรมบัญชีกลางยันพร้อมแก้ข้อติดขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เร่งออกกฎกระทรวง แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนรองรับ ด้าน อปท.โอดบุคลากร-ระบบไอที-อินเทอร์เน็ตไม่พร้อม คนท้องถิ่นหวั่นงานไม่เดิน กฎเข้ม ผิดพลาดทั้งที่ไม่เจตนาแต่เจอโทษหนัก

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยจะหารือเกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลจะให้ท้องถิ่นจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยใช้เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งนี้ หากหน่วยงานท้องถิ่นตกลงกับกระทรวงมหาดไทยเรื่องจัดสรรงบประมาณแต่ละโครงการเรียบร้อยแล้ว เกิดมีข้อติดขัดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในโครงการนี้และโครงการอื่น ๆ ก็สามารถเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาฯ พิจารณาผ่อนคลายข้อติดขัดให้ได้

ทั้งนี้ หลัง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มีผลบังคับใช้ 23 ส.ค. 2560 กระทรวงการคลังได้ออกประกาศ ระเบียบ และกฎกระทรวง อีก 8 ฉบับ ให้หน่วยงานรัฐมีแนวทางปฏิบัติงานชัดเจนถูกต้อง อาทิ กฎกระทรวง กำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน และกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ โดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง ฯลฯ เช่น นมโรงเรียน, นมยูเอชที จิตรลดา เป็นต้น กฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขข้อติดขัดต่าง ๆ และแจ้งเวียนทุกหน่วยงานทราบแล้ว 8 เรื่อง ซึ่งกรมได้รับทราบข้อจำกัดบางประเด็นในการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นกับบางหน่วยงาน จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้นำประเด็นต่าง ๆ เสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาฯ กำหนดแนวทางปฏิบัติให้คล่องตัวขึ้น และยังเปิดรับฟังทุกความคิดเห็น รวมทั้งแก้ไขปัญหาเต็มที่

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางจัดอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรของสำนักงานคลังเขต และคลังจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้กระจายถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคได้ถูกต้องชัดเจน รวมถึงประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง “www.gprocurement.go.th” และ facebook “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” เป็นต้น

ขณะเดียวกันได้ออกหนังสือเวียนแจ้งแนวปฏิบัติต่อเนื่อง มีการผ่อนปรน อาทิ ให้หน่วยงานรัฐที่จำเป็นเร่งด่วนต้องใช้พัสดุใช้วิธีคัดเลือกได้ หรือกรณีจำเป็นต้องใช้พัสดุโดยฉุกเฉินก็ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ รวมถึงกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ แจ้งผ่อนปรนเกี่ยวกับการจัดอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่พัก ผ่อนคลายการจัดซื้อยาโรงพยาบาลให้จัดซื้อยาวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อครั้ง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ เป็นต้น

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ รมว.คลังเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบหลักการให้รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ที่จัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เป็นต้น

นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาทวี ประธานภาคใต้ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ จริง ๆ แล้วใกล้เคียงกับของเดิม ในส่วนของท้องถิ่นไม่ได้มีปัญหา แต่อุปสรรคคือการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งคนต้องพร้อม เจ้าหน้าที่ต้องปรับตัวให้ทัน ระบบต้องพร้อม ไม่มีปัญหา เพราะวันนี้การป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตมีมาตรการลงโทษแรงมาก หากบกพร่องโดยไม่เจตนาทุจริตควรมีทางออกให้เจ้าหน้าที่ และโดยหน้าที่ท้องถิ่นต้องทำงาน 24 ชั่วโมง หากระเบียบออกมามากจนเจ้าหน้าที่สับสนงานจะไม่เดิน งานที่ควรเสร็จใน 3 วัน อาจยืดเป็น 7-10 วัน กระทบการบริการประชาชน

น.ส.ปิยะรัตน์ ลิ่วลักษณียนาวิน รองปลัดเทศบาลรักษาราชการแทนปลัดเทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทำให้ท้องถิ่นกังวลหลายเรื่อง ตั้งแต่นำระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้ควบคู่กับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งยุ่งยากในขั้นตอนปฏิบัติ โดยเฉพาะท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่สำคัญระบบล่มบ่อยครั้ง และติดขัดไม่ต่อเนื่อง บางท้องถิ่นคอมพิวเตอร์ไม่พร้อม สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่สมบูรณ์ จึงควรนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อนบังคับใช้ทั่วประเทศ เพราะหากผิดพลาด จะส่งผลต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง และมีโทษหนัก ทำให้เจ้าหน้าที่กังวล งานที่ควรลื่นไหลกลับสะดุด