เฉลยปัญหา ถนนกำแพงเพชร 6 สะสมจากโฮปเวลล์

ภาพจาก Google Street View ถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564

หาคำตอบต้นตอปัญหา “ถ.กำแพงเพชร 6” หลังประชาชนร้องเรียนถนนไม่เรียบ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 

วันที่ 14 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณี ถนนกำแพงเพชร 6 ช่วงหน้าสน.ดอนเมือง-สำนักงานเขตดอนเมือง มีสภาพพื้นผิวเป็นลูกคลื่นต่อเนื่อง ทำให้การสัญจรไปมาของประชาชนได้รับผลกระทบ หลายครั้งเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิต

ถนนเส้นดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร  แนวเส้นทาง เริ่มต้นจาก ถนนกำแพงเพชร 2 ข้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) อ้อมไปด้านหลังผ่านสถานีรถไฟพหลโยธิน ป้ายหยุดรถไฟนิคมรถไฟ กม.11 จากนั้นมีเส้นทางขนานกับทางรถไฟสายเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ ฝั่งตะวันออก ไปบรรจบกับถนนเทศบาลสงเคราะห์ ที่หน้าวัดเสมียนนารี

จากนั้น สลับไปขนานกับทางรถไฟฝั่งซ้าย (ตะวันตก) วิ่งขนานกับถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านสถานีรถไฟบางเขน และถนนงามวงศ์วานที่สีแยกบางเขน สถานีรถไฟหลักสี่ และถนนแจ้งวัฒนะที่สี่แยกหลักสี่ และสถานีรถไฟดอนเมือง แล้วเลียบทางรถไฟผ่านที่หยุดรถไฟหลักหก ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีรถไฟรังสิต (ถ.รังสิต-ปทุมธานี)

ปฐมบทจากโฮปเวลล์

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เผยว่า เดิมถนนสายนี้สร้างขึ้นรองรับโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) ต่อมาเมื่อโครงการโฮปเวลล์ถูกยกเลิก และมีการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิตแทน จึงมีการปรับปรุงและก่อสร้างถนนสายนี้เพิ่มเติม

เมื่อโครงการถนนสายนี้แล้วเสร็จ ร.ฟ.ท. เคยเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อส่งมอบถนนสายนี้ให้ กทม. นำไปบำรุงรักษา เพราะ กทม. ก็มีโครงการถนนที่จะต่อเชื่อมกับเส้นทางนี้ในอนาคต แต่สุดท้ายไม่สามารถเจรจากันได้ เพราะ กทม. มองว่าหากรับไปบริหารเอง ค่าซ่อมบำรุงในภายหลังจะตามมาเป็นจำนวนมาก

สำหรับปัญหาถนนที่มีสภาพเป็นเกลียวคลื่น เกิดจากช่วงก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงต้องทำการรื้อถอนโครงสร้างบางส่วนของโครงการโฮปเวลล์เดิมออก แต่ยังไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนบริเวณฐานรากของโครงการได้ทั้งหมด เนื่องจากการรื้อถอนในช่วงดังกล่าวต้องใช้เทคนิคพิเศษในการรื้อถอน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตามมาสูงมาก จึงไม่ได้ทำการรื้อถอนโครงสร้างบริเวณฐานรากออก พื้นที่บางส่วนของถนนจึงมีลักษณะเป็นคลื่นเกลียวในบางช่วง

“ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. พยายามแก้ปัญหานี้ แต่เนื่องจาก ร.ฟ.ท. เป็นองค์กรที่ประสบปัญหาขาดทุนทุกปี ประกอบกับวัตถุประสงค์ขององค์กรไม่ได้กำหนดมาให้ซ่อมแซมหรือก่อสร้างถนนหนทางโดยตรง ทำให้การของบประมาณเพื่อซ่อมแซมถนนดังกล่าวทำได้ยาก” แหล่งข่าวระบุ

เชื่อมต่อรถไฟไทย-จีน

อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของ ร.ฟ.ท. หลังจากก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว ในอนาคตจะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม.ต่อ ซึ่งในช่วงถ.กำแพงเพชร 6 อยู่ในสัญญาก่อสร้างที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. มีบมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)​ เป็นผู้ก่อสร้าง

ซึ่งในสัญญาได้เขียนระบุให้รับเหมาปรับปรุงถนนเส้นดังกล่าวด้วย คาดว่าถนนดังกล่าวจะได้รับการปรับปรุงไปพร้อมๆกับการก่อสร้างโครงการรถไฟไทยจีนต่อไป โดยคาดว่าสัญญา 4-2 จะเริ่มต้นก่อสร้างภายในปี 2565 นี้

ส่วนในระยะยาวก็มีแผนที่จะโอนถนนสายนี้ให้กับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นเจ้าของโครงการไป เพื่อให้ถนนสายนี้ได้รับการบำรุงรักษาตามมาตรฐานของกรมที่ดูแลและรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง อีกทั้ง ทช.เคยรับมอบถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) ช่วงถ.ประชาชื่น – ถ.กาญจนาภิเษก

ซึ่งอยู่ในส่วนรถไฟชานเมืองสายบางซื่อ – ตลิ่งชัน ไปบำรุงรักษาเช่นกัน กระบวนการตอนนี้ได้เริ่มต้นการพูดคุยกับคนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) แล้ว ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะเพิ่งเริ่มพูดคุยกัน