เปิดเกณฑ์ พฤติกรรมอย่างไร เข้าข่ายกักตุน-ปฏิเสธการจำหน่าย

เปิดเกณฑ์ตรวจสอบ พฤติกรรมอย่างไร เรียกกักตุน-ปฏิเสธการจำหน่าย พาณิชย์เอาผิดจริงโทษ จำคุก 7 ปี หรือปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

วันที่ 20 มกราคม 2565 หลังจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และผู้ครอบครอง หรือห้องเย็นที่มีสต๊อกหมูตั้งแต่ 5,000 กก. ขึ้นไป (5 ตัน) ต้องแจ้งปริมาณ และราคาต่อกรมการค้าภายในทุก 7 วัน ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าดวยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 นับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2564 เป็นต้นมา

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้จนถึงวันที่ 17 มกราคม 2565 ได้รับรายงานว่ามีการสต๊อกหมูชำแหละทั่วประเทศ 8,352 ตัน และล่าสุดตามที่มีข่าวปรากฎว่ามีการเข้าตรวจสอบสต๊อกหมูในห้องเย็นของผู้ประกอบการ 2 รายในพื้นที่ จ.สงขลาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมคณะนั้น ได้มอบให้กรมการค้าภายในตรวจสอบและรายงานข้อมูลว่า 2 บริษัทดังกล่าวได้มีการแจ้งปริมาณตามที่ กกร.กำหนดไว้หรือไม่ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ ไม่แจ้ง และแจ้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง หรือแจ้งด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ซึ่งในกรณีที่ไม่แจ้งปริมาณสต๊อกถือว่ามีความผิด ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาทตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน  ส่วนในกรณที่แจ้งแล้วต้องตรวจสอบต่อไปว่าแจ้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ หากแจ้งด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จก็จะมีความผิดอีกเช่นกัน โดยหลักกฎหมายหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย ก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ คือจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การจะสรุปว่า 2 บริษัทนั้นมีการกักตุนหรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบพิสูจน์ให้ได้ว่ามีพฤติกรรมกักตุนการจำหน่าย เช่น การสต๊อกสินค้า โดยต้องดูว่าเป็นสินค้าหมูแช่เย็น หรือหมูแช่แข็ง มีการหมุนเวียนสินค้าหรือไม่ เก็บไว้นานเท่าไร 7 วัน 10 วัน หรือ 14 วัน เพราะหากเป็นหมูแช่แข็งอาจจะแช่ไว้ได้ในระยะเวลานานกว่าหมูแช่เย็น ประเด็นนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังไปได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาการสอบสวนก่อนที่จะสรุปว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดเรื่องการกักตุนสินค้า อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ในทันที อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค”

อนึ่ง ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดว่า มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด

คณะกรรมการอาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใดก็ได้ หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 30 ห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 25(12)หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 25(5)หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่าย หรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

มาตรา 31  ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการควบคุมหยุดการให้บริการตามปกติ หรือปฏิเสธการให้บริการ หรือประวิงการให้บริการ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

สำหรับบทลงโทษ ในมาตรา41 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน7ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง140,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ