ศบศ. จี้คลังสรุปแนวทางเว้น VAT กิจการคลาวด์เซอร์วิส ภายใน ม.ค.นี้

ภาพประกอบ Cloud Computing
Photo by Soumil Kumar from Pexels

ศบศ.ดันนโยบายส่งเสริมลงทุนกิจการคลาวด์เซอร์วิส 4 ประเด็น จี้ “สรรพากร” ออกร่างรายละเอียดเว้น VAT ธุรกิจคลาวด์ “พลังงาน” ทำร่างโมเดลซื้อขายไฟฟ้ารองรับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ถก “ดีอีเอส” ออกประกาศรองรับ พ.ร.บ.คอมฯ กำหนดผู้ให้บริการ-ผู้ใช้บริการ ก่อนดึงบิ๊กคลาวด์ระดับโลกวางระบบคลาวด์กลางภาครัฐ 

วันที่ 21 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส 4 ประเด็น ดังนี้

1.ระบบภาษีที่จะส่งเสริมระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนศักยภาพของไทยในการเป็น Regional Digital Hub โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการรายเดิมนั้น กรมสรรพากรรายงานว่า จากที่ ศบศ.เห็นชอบให้มีมาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการรายเดิม และ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะอยู่ หรือออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้

โดยความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการสนับสนุนในรายละเอียดของพระราชกฤษฎีกา อาทิ ขอบข่ายของธุรกิจ เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำข้อเสนอแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565

2.นโยบายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) หลังจากที่ประชุมมอบหมายกระทรวงพลังงานเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้รูปแบบการรับซื้อและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตด้วยพลังงานทดแทน ผ่านระบบสายส่งและสายจำหน่ายของการไฟฟ้า แบบใหม่แล้วเสร็จและพร้อมให้บริการลูกค้า

ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการยกร่างรูปแบบ (Model) การซื้อขายไฟฟ้า ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในระยะทดลอง-นำร่องในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด

โดยได้หารือร่วมกับ EEC จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำรายละเอียดนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ศบศ.ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการ เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการให้บริการ Data Center และคลาวด์คอมพิวติ้ง

3.ความชัดเจนเรื่องขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ให้บริการคลาวด์ เกี่ยวกับการให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ จากที่ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดทำประกาศให้ชัดเจน เรื่องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับนิยามของ “ผู้ให้บริการ” และ “ผู้ใช้บริการ” รวมทั้งเหตุและขั้นตอนในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นไปตามหลักสากล

ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงดิจิทัลฯได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง แนวปฏิบัติตาม มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และให้ยกเลิกประกาศฉบับเดิม

ทั้งนี้ ประกาศฉบับใหม่ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของ “ผู้ให้บริการ” และ “ผู้ใช้บริการ” รวมทั้งขอบเขตการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเรียกขอข้อมูลจากผู้ให้บริการที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องหลักปฏิบัติสากลสำหรับอุตสาหกรรมคลาวด์คอมพิวติ้งแล้ว

4.บทบาทของภาคเอกชนต่อการพัฒนา GDCC : Government Data Center and Cloud Service ความเดิมได้ให้กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งผลักดันนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของผู้ให้บริการภาคเอกชนต่อการพัฒนา บริการคลาวด์ของภาครัฐ

ความคืบหน้าล่าสุด  กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เริ่มประสานงานกับผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในโลก ในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาบุคลากร และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านคลาวด์ และการบริการต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลแล้ว

และกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องใช้คลาวด์ โดยรูปแบบการจัดทำคลาวด์ภาครัฐมีตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับองค์กรที่เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ที่ให้บริการข้อมูลกลางของประเทศ หรือคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีเทคโนโลยีที่ดีได้