ภารกิจด่วนในมือ “ฐากร” ลุ้นนั่ง กกต. คุมเลือกตั้ง ?

สัมภาษณ์

เป็นที่ฮือฮาเมื่อปรากฏเป็น 1 ใน 7 ผู้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขึ้นชื่อว่า กำหนดสเป็กเทพมาก วันนี้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รอเพียงด่านสุดท้ายว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไฟเขียวเห็นชอบด้วยหรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยในจังหวะนั่งเก้าอี้เลขาธิการ กสทช. วาระ 2 ครบ 1 ปี

Q : สมัคร กกต. งานเดิมไม่ท้าทาย

งาน กสทช.ก็ยังแฮปปี้อยู่ แต่การจัดระบบเลือกตั้งแบบใหม่ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเสียบลงคะแนนได้ สร้างความปลอดภัยโปร่งใสไม่ดีหรือ ผมมองว่าถ้าต้นน้ำดี การเมืองดี บ้านเมืองก็เดินหน้าได้ดี เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งถ้ามีความโปร่งใส มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้นักการเมืองที่ดีเข้ามา บ้านเมืองก็จะไปได้ดี ก็ถือว่าได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติในอีกรูปแบบ

Q : จะสมัครบอร์ด กสทช.ด้วยไหม

เขากำหนดให้สมัครได้ที่เดียว

Q : ออกจาก กสทช.แน่ ๆ

ยังไม่รู้เลย ต้องให้ สนช.พิจารณาก่อน สมาชิก สนช.อาจจะไม่เห็นชอบผมก็ได้นะ (หัวเราะ)

Q : ไม่ห่วงงาน กสทช.

ที่ กสทช.ยังมีคนดี ๆ เก่ง ๆ ทำงานต่อได้อีกเยอะ แต่ในระหว่างนี้ ผมก็ทำงานต่อเนื่อง ยังมีงานเร่งด่วนที่ กสทช.ทั้งของปีนี้ และปี 2561 อีกหลายอย่าง

Q : งานด่วนอะไรบ้าง

เป็นบทบาทของ กสทช. ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และทำให้เกิดสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ งานแรกคือ ต้องประมูลคลื่นความถี่ภายใต้สัมปทานดีแทค ที่จะสิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย. 2561 ซึ่งในวันที่ 18 ธ.ค. ก็จะนำร่างหลักเกณฑ์การประมูลไปรับฟังความเห็นสาธารณะ ที่ต้องเร่งประมูลก่อนเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4G เริ่มช้าลงอีกแล้ว เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนมีเบอร์การใช้งาน 80 กว่าล้านเบอร์ ตอนนี้มี 121 ล้านเบอร์ ถ้าไม่เร่งประมูลจะเกิดปัญหา ซึ่งราคาประมูลจะเริ่มต้นไม่น้อยกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน รวมไม่ต่ำกว่า 1.5-1.6 แสนล้านบาท และยังจะมีการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ สร้างงานต่อเนื่อง แต่ละไลเซนส์อีกไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้าน ไลเซนส์ใหม่จะออกเสร็จก่อน ส.ค. 2561

Q : เน็ตประชารัฐก็ต้องทำ

เรารับผิดชอบในส่วนของพื้นที่ชายขอบ 3,900 หมู่บ้าน 7 แสนกว่าครัวเรือน กลาง ธ.ค.ปีนี้จะเริ่มเปิดทยอยให้บริการ ตอนนี้กำลังประสานเชิญนายกรัฐมนตรีไปเปิดโครงการตามข้อสั่งการของนายกฯ ปลายปี 2561 ต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้งานครบทุกหมู่บ้าน หน่วยงานไหนไม่เสร็จก็ตัวใครตัวมัน แต่ของ กสทช.จะเสร็จหมด ส.ค. 2561 ส่วนพื้นที่ชายขอบที่เหลือได้โอนเงินให้กระทรวงดิจิทัลฯไปดำเนินการแล้ว 3 พันกว่าล้านบาท

Q : มีไอเดียใหม่เสนอบอร์ด

เมื่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไปถึงแล้ว ก็อยากให้คนในท้องถิ่นทำงานที่บ้านได้ ไม่ต้องอพยพมาทำงานในเมือง เมื่อ กสทช.ประกาศค่าบริการไม่เกิน 200 บาท/เดือน ก็จะเสนอบอร์ดให้ใช้เงิน USO โทรคมนาคมซัพพอร์ตให้ 7 แสนครัวเรือนใช้ฟรี คูณออกมาปีหนึ่งไม่ถึงพันล้านบาท แต่เขาจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือนได้ถึงแค่ 2-3 พันบาท/เดือน รวมกันต่อปีจะสร้างรายได้เพิ่มเป็นหมื่นกว่าล้านบาท

ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยในการใช้งานของผู้ที่นำเบอร์โทรศัพท์ไปผูกกับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งตอนนี้มีบัญชีโมบายแบงกิ้งแล้วกว่า 20 ล้านบัญชี ฉะนั้นตั้งแต่ 15 ธ.ค.นี้ ทุกช็อปของโอเปอเรเตอร์จะเปลี่ยนเป็นการลงทะเบียนแบบอัตลักษณ์ ใช้การถ่ายรูปหรือสแกนลายนิ้วมือ เชื่อมโยงกับข้อมูลกรมการปกครอง ไม่ให้มีตัวปลอมมาสวมรอย

Q : คนกังวลว่าจะถูกดักเก็บข้อมูล

ยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้ติดตามการใช้งานของผู้บริโภค และก็ไม่ได้เก็บฐานข้อมูลไว้ แค่เช็กว่าตรงกับข้อมูลของกรมการปกครองหรือไม่ ก.พ. 2561 จะใช้วิธีลงทะเบียนนี้ทุกช่องทั่วประเทศ

Q : เตรียมรับนวัตกรรมใหม่

เราประกาศให้ใช้คลื่น 920-925 MHz สำหรับ IoT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) อย่างรถยนต์ไร้คนขับ สมาร์ทโฮม เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีธุรกิจ IoT เกิดขึ้น 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.

Q : การจัดสรรคลื่นย่าน 700 MHz

น่าจะเป็นประมาณปี 2562-2563 เพราะสัมปทานทีวีแอนะล็อกจะหมดปี 2563 แต่ถ้าเจ้าของช่องขอคืนคลื่นก่อนได้ก็จะเริ่มได้เร็วกว่านั้น ก็ยังพอมีโอกาส และทางสมาคมทีวีดิจิทัลก็มีเข้ามาคุยเรื่องแนวทางจะขอคืนคลื่น ตามข้อเสนอที่เขาไปยื่นให้กับทาง คสช. แต่ส่วนนี้ต้องรอนโยบายรัฐบาลจะสั่งการมา

Q : แนวทางกำกับ OTT

ตอนนี้ รองประธาน กสทช. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ นำมติที่ประชุม กสทช. และที่ประชุม ATRC (สภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน) เอาไปประกอบการรับฟังความเห็นสาธารณะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง แต่คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งอาจจะราว เม.ย. 2561 ถึงจะเรียบร้อย

Q : ก่อนนี้เหมือนจะเร่งมาก

เป็นประเด็นที่ต้องคิดหลายด้าน เราต้องการป้องกันปัญหาจากสื่อออนไลน์ทั้งหมด ไม่ได้จำเพาะเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตอนนี้จึงให้ทางรัฐบาลเดินหน้าในเรื่องการจัดเก็บภาษีไปก่อน ถ้าทำได้เรียบร้อยแล้ว เราค่อยเดินหน้าเรื่องการกำกับดูแล OTT ต่อ

Q : ทิศทางโทรคมนาคมไทย

เรามีทิศทางที่ดีมาก เพราะ ITU ได้จัดอันดับประเทศไทยดีขึ้น ตอนนี้เราหายใจรดต้นคอกับมาเลเซียที่เคยทิ้งห่างเรามากเมื่อ 6-7 ปีก่อน ถ้า กสทช.ยังเดินหน้าแบบนี้ตลอดก็จะตามทัน หรือแซงหน้าได้ โลกดิจิทัลในอนาคตคือปัจจัยที่ 6 เพราะทุกคนต้องติดต่อสื่อสาร