“แอฟริกา” ดินแดนแห่งโอกาส ดึงไทยเพิ่ม “ลงทุน” เชื่อมโลก

Factory employees check grapefruits coming from a farm which was successfully claimed back by the mainly black community and then leased to the former white owner, on June 7, 2017 in Hoedspruit, South Africa. / AFP PHOTO / MUJAHID SAFODIEN

วัฏจักรของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนประเทศอื่น ๆ “ทวีปแอฟริกา” ที่ถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลาย แต่ความต่างที่เหมือนกันก็คือ “การเปิดประตูรับนักลงทุน” เพื่อทำหน้าที่เสมือน “ผู้ช่วย” พัฒนาประเทศต่อไป

การสัมมนา “โอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในแอฟริกา” จัดโดยกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ นายเกริกพันธ์ ฤกษ์จำนง อธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในทวีปแอฟริกาว่า ยังมีอยู่สูงมาก แม้จุดยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและแอฟริกาจะห่างกัน แต่ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาเยือนไทยถึง 170,000 คน อีกทั้งการค้าก็เติบโต 23% อยู่ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยเฉพาะ “แอฟริกาใต้” ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ใหญ่อันดับหนึ่งของทวีปแอฟริกา นายเอดดีส์ ฟร็องซัวส์ แวน สแตรเทน เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ ประจำไทยกล่าวว่า แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกา และเป็นตลาดส่งออกข้าวใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ทำหน้าที่เป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยในการส่งสินค้าไปภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะ “โมซัมบิกและแองโกลา” อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่ม BRICS และเป็นหนึ่งในสมาชิกร่วม G20

นอกจากนี้ เพิ่งบรรลุความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างแอฟริกาใต้กับสหภาพยุโรป (อียู) และอยู่ระหว่างเจรจากับสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) เพื่อตั้งเขตการค้าเสรีระหว่าง SACU กับสหรัฐ ดังนั้นใครที่เข้าไปทำธุรกิจเพื่อการค้า การส่งออกก็จะได้อานิสงส์จากตลาดสหรัฐและอียูไปด้วย

แม้แอฟริกาใต้มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนมากสุดในภูมิภาค แต่ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ขณะที่นักลงทุนจากเอเชียที่เข้ามา ได้แก่ จีน ส่วนประเทศไทยมีบ้างเช่น บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด และบริษัทในเครืออิตัลไทย แต่ยังเป็นสัดส่วนน้อย

ส่วน “อียิปต์” ประเทศจีดีพีใหญ่อันดับสองของแอฟริกา นายฮาซิม อัสสัยยิด บะดะวีย์ อัฏฏอฮิรีย์ เอกอัครราชทูตอียิปต์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อียิปต์มีขนาดใหญ่กว่าไทยเกือบ 1 เท่า แต่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย ที่น่าสนใจคือ ราว 80-85% ของประชากรอยู่ในวัยทำงาน โดยปีที่ผ่านมา มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 3.07 แสนล้านดอลลาร์ รายได้ต่อคนต่อปีอยู่ที่ 11,194 ดอลลาร์ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 6.9 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงถึง 49.3%

“อียิปต์เป็นจุดหมายการลงทุนอันดับแรกในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยปีละ 9.3-10 ล้าน ทางภูมิศาสตร์อียิปต์อยู่ใกล้กับเอเชียมาก โดยแต่ละวันมีเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-ไคโรถึง 4 เที่ยวบินและช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อียิปต์เป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในทวีปแอฟริกา”

รัฐบาลอียิปต์ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศมาก มีแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ปรับกฎระเบียบการลงทุน อาทิ นักลงทุนสามารถเป็นเจ้าของได้ 100% ไม่จำกัดสาขาธุรกิจ, สามารถโอนเงินกำไรกลับประเทศได้ 100%, ไม่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล, ไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคล, ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสกุลเงิน และไม่มีข้อจำกัดการรับแรงงานต่างชาติ เป็นต้น และปี 2015 รัฐบาลผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ “คลองสุเอซใหม่” ที่เปรียบเสมือนลมหายใจอียิปต์ ไปอีกอย่างน้อย 150 ปี ที่มีระยะทาง 72 กิโลเมตร จะช่วยให้เดินเรือไป-กลับสวนทางกันได้ และเพิ่มความสามารถการเดินเรือได้ถึง 2 เท่า รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะเพิ่มรายได้จาก 5,300 ล้านดอลลาร์ต่อปีในปัจจุบัน เป็น 13,200 ล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2023 และเชื่อว่าคลองสุเอซจะกลายเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของโลก

ขณะที่ นายคริสโตเฟอร์ เอ็ม คลิก้าเอกอัครราชทูตและอธิบดีกรมเอเชียและออสเตรเลีย กระทรวงการต่างประเทศเคนยา กล่าวว่า “เศรษฐกิจของเคนยาเติบโตน่าสนใจ โดยปี 2016 จีดีพีอยู่ที่ 5.8% ส่วนปีนี้คาดจะโต 4.5% รัฐบาลเคนยามีวิสัยทัศน์ให้ปี 2030 เป็นศูนย์กลางการลงทุนในแอฟริกา”

เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของเคนยา คือ “ไนโรบี” ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีความง่ายต่อการลงทุนอันดับ 3 ของแอฟริกา ขณะที่ “มอมบาซา” เมืองใหญ่อันดับสองรองจากไนโรบี มีความสำคัญที่เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออก โดยจุดเด่นทั้งสองนี้รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุน

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เคนยาและไทยได้ร่วมจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม Joint Trade and Investment Committee (JTC Thailand-Kenya) เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน และฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เคนยา 50 ปี

โดยรัฐบาลเคนยาต้องการผลักดันอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ข้าวโพด อ้อย อาหารสัตว์ และปุ๋ย เป็นต้น และยกให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญมาก

นอกจากนี้ เคนยาไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยวแบบซาฟารี แต่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น ทับทิม ไพลิน และพลอยเนื้ออ่อน อีกทั้งปัจจุบันยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใกล้เสร็จ เช่น Two Rivers Mall แหล่งช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ใหญ่, รถไฟเชื่อมไนโรบี-มอมบาซา, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Olkaria ขนาด 280 เมกะวัตต์ เป็นต้น เพื่อรองรับการเติบโตภาคท่องเที่ยว ที่เดิมเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรป แต่ล่าสุดนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามามากขึ้น

นายดิลลิป ราจากาเรียร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันว่า แอฟริกามีศักยภาพมากกว่าที่เห็น และไม่ใช่ศักยภาพเฉพาะด้าน แต่หมายถึงโอกาสในทุกมิติ และเหตุผลที่ทำให้ไมเนอร์ฯตัดสินใจเข้ามาลงทุนโรงแรมหลายแห่งในแอฟริกาเพราะว่า แอฟริกาในปัจจุบันไม่ได้ต่างจากเอเชียเมื่อหลายสิบปีก่อน โอกาสเติบโตสูง เพียงแต่ต้องใช้เวลาและเงินทุนในการพัฒนา


“ประชากรในแอฟริกาเติบโตเร็วเหมือนประเทศจีน ศักยภาพรอบด้านเหมือนเอเชีย แต่ที่มองข้ามไม่ได้คือ โอกาสที่รัฐบาลประเทศแอฟริกาพร้อมที่จะหยิบยื่นให้ กฎระเบียบแม้จะเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่ก็เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ส่วนอุปสรรคหลัก ได้แก่ ภาษา เพราะนอกจากภาษาอังกฤษ บางประเทศจะใช้โปรตุเกสและอารบิก การขอใบอนุญาตการทำงานที่มีขั้นตอนเยอะและล่าช้า เส้นทางบินตรงมีเพียงบางประเทศเท่านั้น และความไม่พร้อมทางสาธารณสุข”