GISTDA ชี้ภาคเหนือ-อีสาน หลายจังหวัดระดับฝุ่น PM 2.5 สูงกระทบสุขภาพ

ฝุ่น PM 2.5
แฟ้มภาพประกอบข่าว

GISTDA ชี้ภาคเหนือ-อีสาน หลายจังหวัดระดับฝุ่น PM 2.5 สูงระดับกระทบสุขภาพ พบจุดความร้อนสะสมสูงสุด 2 ภาค เกือบ 2 หมื่นจุดในช่วงเวลา 2 เดือน ปี 2565

วันที่ 14 มีนาคม 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เช้าวันนี้เวลา 10.00 น. หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพไปจนถึงมีผลต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม-13 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 10,949 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 9,197 จุด และภาคกลาง 5,634 จุด ตามลำดับ

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาครองแชมป์ต่อเนื่องวันที่ 15 ซึ่งวันนี้พบ 4,097 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2,372 จุด และอันดับที่ 3 เป็นราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 2,090 จุด ตามลำดับ

และในวันที่ 13 มีนาคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 775 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่เกษตร 226 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 167 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 157 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 110 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 102 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 13 จุด

ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ แม่ฮ่องสอน 135 จุด สกลนคร 64 จุด อุบลราชธานี 44 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนเริ่มกระจายตัวหนาแน่นไล่ตั้งแต่ตอนกลางไปจนถึงตอนบนของประเทศ นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งวันนี้พบ 426 จุด ส่วนใหญ่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตร คาดว่าน่าจะเกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่

“ข้อมูลจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในประเทศไทย เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัย”

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่